คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยเพียงว่าสมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 1 หรือ น. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้อื่นหรือไม่เท่านั้น เมื่อพินัยกรรมที่ผู้คัดค้านอ้างไม่มีข้อความกำหนดแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยไปถึงว่า พินัยกรรมนั้นปลอมหรือไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์ บุณยพานิช ผู้ตาย นายประสิทธิ์ได้ถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 2 แปลง ตั้งอยู่ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร คือที่ดินโฉนดเลขที่ 41178 และเลขที่ 41179 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้มีเหตุขัดข้องในการขอรับโอนมรดกดังกล่าว ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านรวมใจความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 41178 และ 41179 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 หากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวจะเกิดความไม่เป็นธรรมและเกิดความเสียหายแก่ทายาทอื่นได้ จึงขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านที่ 1 หรือนางนวลจันทร์ กลิ่นพยอม เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางอารีย์ บุณยพานิช ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายประสิทธิ์ บุณยพานิช ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้อง ของ ผู้คัดค้านทั้งสอง ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า สมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 1 หรือนางนวลจันทร์ กลิ่นพยอม ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีอายุถึง 87 ปีแล้วได้ความจากพยานผู้คัดค้านทั้งสองเองว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ชราภาพมากและไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ทั้งยังมีภูมิลำเนาอยู่ถึงจังหวัดชุมพร ย่อมไม่สะดวกในการจัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ส่วนนางนวลจันทร์แม้จะเป็นน้องสาวของผู้ตายและไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก แต่ในทางพิจารณาก็อ้างว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของผู้ตายให้กับผู้คัดค้านที่ 2 และบุคคลอื่นซึ่งนับว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ร้องดังนั้น หากให้จัดการมรดกร่วมกันย่อมจะเกิดข้อขัดแย้งในการแบ่งปันทรัพย์มรดก จึงไม่สมควรตั้งนางนวลจันทร์เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องเช่นกัน ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้แต่ผู้ร้องได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอม จึงขอให้วินิจฉัยว่าพินัยกรรมปลอมจริงหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นนี้คงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า สมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 1หรือนางนวลจันทร์เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่เท่านั้นในเมื่อพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้าง ไม่มีข้อความกำหนดแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยไปถึงความถูกต้องแท้จริงของพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้าง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share