คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ขอมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินมาประกันตัว ช. ผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2มาประกันตัวผู้ต้องหาแทนจำเลยที่ 1 มิใช่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มาประกันตัวผู้ต้องหาในนามจำเลยที่ 2 เองและแม้ว่าคำร้องขอประกันและสัญญาประกันจะไม่มีข้อความให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบและไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1ด้วยก็ตาม แต่คำร้องและสัญญาดังกล่าวก็ได้ระบุเลขที่โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันด้วย และการทำสัญญาประกันก็เนื่องมาจากมีหนังสือมอบอำนาจเป็นส่วนสำคัญ การวินิจฉัยความรับผิดจะวินิจฉัยแต่เพียงคำร้องขอประกันและสัญญาประกันหาได้ไม่แต่ต้องวินิจฉัยหนังสือมอบอำนาจประกอบด้วย และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินมาทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประกันด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 94508 ตำบลหนองบอน (พระโขนงฝั่งใต้) อำเภอพระโขนงจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ไปประกันตัว นายชัชว์ บุนนาคผู้ต้องหา ต่อโจทก์ ในสัญญาประกันกำหนดว่า ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยที่ 2 ยอมใช้เงิน 200,000 บาทให้แก่โจทก์โดย จำเลยที่ 2 ได้วางหลักทรัพย์โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 กับเงินสด 32,000 บาท โจทก์จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาไป การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงเจตนาร่วมกันทำสัญญาประกันดังกล่าวโดย จำเลยทั้งสองยอมรับผิดร่วมกัน แต่เมื่อถึงกำหนดวันส่งตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งตัวได้ และขอเลื่อนการส่งตัวอีกหลายครั้ง จึงถือว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประกัน โจทก์มีคำสั่งปรับจำเลยทั้งสองตามสัญญาประกัน และแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับตามสัญญาประกันแก่โจทก์ภายในวันที่ 10 กันยายน 2530 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับโจทก์จึงนำเงินสดซึ่งเป็นหลักประกันจำนวน32,000 บาท ส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินและยังขาดอยู่อีกจำนวน 168,000บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องชำระในส่วนที่ขาด 168,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 11 กันยายน 2530 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,500 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ประกันตัวนายชัชว์ บุนนาค ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ไปประกันตัวนายชัชว์ บุนนาคในนามของจำเลยที่ 2 เอง คำร้องขอประกันและสัญญาประกันเป็นการกระทำระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบโฉนดที่ดินตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 พร้อมทั้งหนังสือประเมินราคาที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ให้จำเลยที่ 2 มายื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ โดย จำเลยที่ 2 ได้นำเงินสดจำนวน 32,000 บาท พร้อมโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเป็นหลักประกัน โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ประกันตัวผู้ต้องหาดังกล่าว โดย ตีราคาประกัน 200,000 บาท ตามสำเนาสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาได้ โจทก์จึงสั่งปรับจำเลยทั้งสองตามสัญญาประกันจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ โจทก์จึงนำเงินสดจำนวน 32,000 บาทส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าปรับในส่วนที่ขาดอีก168,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ไปเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปประกันตัวผู้ต้องหาในนามของจำเลยที่ 2 เอง หาใช่กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ไม่ เห็นว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ขอมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินดังกล่าวข้างต้นมาประกันตัวนายชัชว์ บุนนาค ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มาประกันตัวผู้ต้องหาแทนจำเลยที่ 1นั่นเองหาใช่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มาประกันตัวผู้ต้องหาในนามจำเลยที่ 2 เองไม่ เพราะหากให้จำเลยที่ 2 ประกันตัวผู้ต้องหาในนามจำเลยที่ 2 เองแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่จำต้องมอบอำนาจ ทั้งข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ก็มิได้ระบุด้วยว่าจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ประกันตัวผู้ต้องหาในนามจำเลยที่ 2 เองดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกด้วยที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำร้องขอประกันและสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีข้อความว่า จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวหรือร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าว อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า แม้คำร้องขอประกันและสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.4 จะไม่มีข้อความให้จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชอบและไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่เอกสารหมาย จ.4 ก็ได้ระบุเลขที่โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้เป็นหลักฐานประกันด้วย การวินิจฉัยความรับผิดจะวินิจฉัยแต่เพียงเอกสารหมาย จ.4 เพียงฉบับเดียวไม่ได้ เพราะเหตุที่ทำสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.4 ก็เนื่องมาจากมีหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เป็นส่วนสำคัญ จึงต้องวินิจฉัยเอกสารทั้งสองฉบับประกอบกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินดังกล่าวมาทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประกันด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share