คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยซื้อมาจาก ล. และที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินมือเปล่า ซึ่ง ล. ได้แจ้งการครอบครองไว้ตาม ส.ค.1 แต่ปรากฏว่าตาม ส.ค.1 (เอกสารหมาย จ.2) ดังกล่าวระบุเนื้อที่ดินและทิศข้างเคียงไม่ตรงกับสัญญาซื้อขาย นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงกับที่ดินพิพาทมาเบิกความสนับสนุน ส่วนโจทก์ที่ 4 อ้างว่าได้ที่ดินพิพาทโดยรับมรดกจากบิดามารดา ตาม ส.ค.1 (เอกสารหมาย จ.4) ซึ่ง ปัจจุบันที่ดินทางด้านทิศตะวันออก จดที่ดินของ บ. แต่โจทก์ที่ 4 ก็ไม่ได้นำบ. มาเบิกความยืนยันคงมีแต่น้องเขย บุตรสาว และบุตรเขยของโจทก์ที่ 4 เบิกความสนับสนุนเท่านั้น จึงอาจเบิกความเข้าข้างกันได้ สำหรับโจทก์ที่ 5 อ้างว่า ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ส. นั้นก็ไม่มีหลักฐานการซื้อขายมาแสดง และไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาเบิกความสนับสนุนเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยนอกจากจำเลยที่ 1 ที่ 4ที่ 13 ที่ 14 และที่ 15 เบิกความเป็นพยานแล้ว ยังมีชาวบ้านอีกหลายคนซึ่งอยู่ตำบลเดียวกับที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินเบิกความประกอบได้เจือสมตรงกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้เป็นที่เลี้ยงโค กระบือ มาช้านานแล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรกรประมาณ 40 คน ซึ่งมีโจทก์ที่ 4 รวมอยู่ด้วยได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินพิพาทปลูกพืชอยู่ 3 ปี ต่อมาผู้ใดจะเข้าไปทำประโยชน์ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งคราว และสภาตำบลลงมติให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนามบินเก่าให้สร้างโรงเรียนบ้านน้ำอ้อม พยานจำเลยดังกล่าวมีกำนัน, อดีต ผู้ใหญ่บ้านและอดีต ครูใหญ่โรงเรียนบ้านน้ำอ้อม ซึ่งต่างมีอายุมากและอยู่ในตำบลที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตลอดมา โดยไม่ปรากฏว่ามีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมเชื่อได้ว่าพยานเบิกความตามความจริง ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ไม่มีสิทธิครอบครอง และการที่จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินพิพาทก็เพื่อใช้เป็นที่สร้างโรงเรียน โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถทำนาในที่ดินพิพาทหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามแผนที่หมายเลข 1 ถึง 4 ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 จำเลยทั้ง15 คน ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวของโจทก์เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือเข้าไปกระทำการใด ๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขและได้ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งหน้าดินและคันนาของโจทก์กับไถที่ดินปิดกั้นทางเกวียนสาธารณประโยชน์ และร่วมกันชี้แนวเขตในการไถที่ดินนั้นทำให้หน้าดินที่มีปุ๋ยและคันนาโจทก์เสียหาย ไม่สามารถใช้เพาะปลูกข้าวได้ ค่าเสียหาย 78,000 บาท และการไถที่ดินปิดกั้นทางเกวียนสาธารณประโยชน์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางนั้นสัญจรไปมาได้ค่าเสียหาย 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 83,000 บาท และการที่โจทก์ไม่สามารถทำนาได้ เสียหายอีกปีละ 20,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 362, 365(2), 358, 91และให้จำเลยทั้ง 15 คน ร่วมกันชำระเงิน 93,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และค่าเสียหายในอัตราปีละ 20,000 บาทแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยเปิดทางเกวียนตามฟ้องให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีด้วย
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3ถอนฟ้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูลความผิดทางอาญา พิพากษายกฟ้องคดีอาญา ให้รับฟ้องเฉพาะคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 จำเลยที่ 10 และจำเลยที่ 12 ถึงที่ 15ให้การรวมกันว่า ที่พิพาททั้งหมดไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นที่ดินสนามบินเก่าที่เรียกกันว่าโนนลอมคอมหรือโนนนกหว้าป้อม อันเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมานานแล้ว และในปัจจุบันก็ยังคงสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่โจทก์อ้างเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดินแปลงอื่นไม่ใช่ที่พิพาท โจทก์บุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 9และที่ 11 กับอนุญาตให้นางทองสี ชมเชย ภริยาโจทก์ที่ 5 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 5 ผู้มรณะ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนแพ่ง
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ขอถอนฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 13 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้เข้าทำนาในที่ดินพิพาทหรือไม่เพียงใด เห็นว่า โจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยซื้อมาจากนางหล้า กะตะโท เมื่อปี 2516 ในราคา 14,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 และที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งนางหล้าได้แจ้งการครอบครองไว้ตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.2 แต่ปรากกว่า ตาม ส.ค.1 ดังกล่าวระบุเนื้อที่ดินและทิศข้างเคียงไม่ตรงกับสัญญาซื้อขาย โดยในสัญญาซื้อขายระบุเนื้อที่ดินไว้ 30 ไร่ ทิศเหนือจดนานางจันดี ทิศใต้จดทางทิศตะวันออกจดนานายป้อม นายโท ทิศตะวันตกจดนานางโม้ ส่วน ส.ค.1ระบุเนื้อที่ดินไว้เพียง 108 ตารางวา และทิศเหนือจดทาง ทิศใต้จดนานายใบ ทิศตะวันออกจดนานายป้อม ทิศตะวันตกจดนานายเสริมจึงเป็ฯการแตกต่างกันมาก นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงกับที่ดินพิพาทมาเบิกความสนับสนุนแต่อย่างใด ส่วนโจทก์ที่ 4อ้างว่าได้ที่ดินพิพาทโดยรับมรดกมาจากบิดามารดาตาม ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งปัจจุบันที่ดินทางด้านทิศตะวันออกจดที่ดินของนางเบ้าเสงี่ยมทรัพย์ นั้นโจทก์ที่ 4 ไม่ได้นำนางเบ้า มาเบิกความยืนยันคงมีแต่นายสีดา ดวงเกวียน นางดวงจันทร์ ไชยชาญรมย์ และนายประสิทธิ์ไชยชาญรมย์ ซึ่งเป็นน้องเขย บุตรสาวและบุตรเขยของโจทก์ที่ 4เบิกความสนับสนุนเท่านั้น จึงอาจเบิกความเข้าข้างกันได้ สำหรับโจทก์ที่ 5 อ้างว่า ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางสีทา แท่นประทุมในราคา 22,000 บาทนั้นก็ไม่มีหลักฐานการซื้อขายมาแสดง และไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาเบิกความสนับสนุนเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยนอกจากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 15 เบิกความเป็นพยานแล้วยังมีชาวบ้านอีกหลายคนซึ่งอยู่ตำบลเดียวกับที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินเบิกความประกอบได้เจือสมตรงกันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้เป็นที่เลี้ยงโค กระบือมาช้านานแล้วในปี 2510 กลุ่มเกษตรกรประมาณ 40 คน ซึ่งมีโจทก์ที่ 4 รวมอยู่ด้วยได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินพิพาทปลูกพืชอยู่ 3 ปี ต่อมาใครจะเข้าไปทำประโยชน์ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งคราว ต่อมาสภาตำบลลงมติให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนามบินเก่าให้สร้างโรงเรียนบ้านน้ำอ้อม พยานจำเลยดังกล่าวมามีนายไสวสมทรัพย์ ซึ่งเป็นกำนันท้องที่ นายเสาร์ ไหมคำมูล อดีตผู้ใหญ่บ้านและนายล้วน คุนะ อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านน้ำอ้อมต่างมีอายุมากและอยู่ในตำบลที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตลอดมาโดยไม่ปรากฏว่ามีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 แต่อย่างใด ย่อมเชื่อได้ว่าพยานเบิกความตามความจริง ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ไม่มีสิทธิครอบครองและการที่จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินพิพาทก็เพื่อใช้เป็นที่สร้างโรงเรียนโจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถทำนาในที่ดินพิพาทหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share