คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำฟ้องของโจทก์จะกล่าวเพียงว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2522 และต่อมายืมเงินโจทก์ครั้งที่สองอีกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2522 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้กล่าวอ้างถึงเอกสารที่จำเลยติดต่อขอยืมเงินจากโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2522 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522โดยส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารมาพร้อมกับคำฟ้องอันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำฟ้อง ในชั้นพิจารณาโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานโดยขอระบุพยานอันดับ 2 และ 3 ว่า หลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 130,000 บาทฉบับลงวันที่ 8 และ 9 กุมภาพันธ์ 2522 และหลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท ฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 และวันที่1 มีนาคม 2522 และส่งอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เอกสารทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแต่ละฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องเดียวต่อเนื่องกัน ถือได้ว่าเป็นเอกสารฉบับเดียวศาลจึงรับฟังข้อความพยานเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ที่ปรากฏอยู่ทั้งหมดในแต่ละฉบับนั้นได้ ทั้งตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือหรือไม่ ซึ่งตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 แต่ละฉบับก็มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จึงหาได้เป็นการที่โจทก์นำสืบนอกคำฟ้องและนอกประเด็นไม่ เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นจดหมายที่จำเลยมีถึงโจทก์และจำเลยได้บันทึกไว้ด้านหลังของจดหมายแต่ละฉบับนั้นว่า จำเลยได้รับเงินจำนวนที่ขอยืมในแต่ละฉบับนั้นไว้เป็นการถูกต้องแล้วพร้อมกับลงลายมือชื่อวันเดือนปีไว้ด้วย เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้น หาใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในแต่ละฉบับนั้นโดยตรง อันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ จำเลยได้ยื่นคำให้การพร้อมทั้งแต่งให้ตนเองเป็นทนายความตามคำรับเป็นทนายความก็ระบุว่า สำนักงานของจำเลยอยู่บ้านเลขที่173 ถนนราชสีมาแขวงดุสิตเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ฟังได้ว่าจำเลยใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ทำงานสำคัญ จึงถือได้ว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลย แม้จำเลยจะระบุไว้ในคำให้การว่า อยู่บ้านเลขที่382 ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครเป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งก็ตาม โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว จำเลยตกลงจะคืนเงินที่ยืม130,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 2 เดือน คือในวันที่ 9 เมษายน 2522เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันนั้น ส่วนเงินยืมอีก50,000 บาท ซึ่งไม่ได้กำหนดเวลาชำระคืนไว้ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม ซึ่งจำเลยได้รับแล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 ครบกำหนดในวันที่ 13พฤศจิกายน 2529 จำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่13 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาให้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทด้วยและจำเลยมิได้คัดค้านว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นไม่ถูกต้อง แม้จำเลยได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ด้วย และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยได้ยืมเงินโจทก์ 130,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 2 เดือน ต่อมาวันที่1 มีนาคม 2522 จำเลยยืมเงินโจทก์อีก 50,000 บาท ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ยอมชำระหนี้โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 130,000 บาทนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2522 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 75,020.83 บาทและจากต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2529ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 375 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 255,395.83บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 180,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาให้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมและไม่ใช่สัญญากู้ ทั้งไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรโจทก์ไม่เคยให้จำเลยยืมเงินจำนวนดังกล่าว หากฟังว่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็เป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระจะต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามก่อนฟ้องคดี โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันที่ 9เมษายน 2522 และจากต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะกล่าวอ้างเพียงว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2522 และต่อมายืมเงินโจทก์ครั้งที่สองอีกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2522 ก็ตามแต่โจทก์ก็ได้กล่าวอ้างถึงเอกสารที่จำเลยติดต่อขอยืมเงินจากโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2522 และครั้งที่สองเมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ 2522 โดยส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารมาพร้อมกับคำฟ้องอันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำฟ้อง ในชั้นพิจารณาโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานโดยขอระบุพยานอันดับ 2 และ 3 ว่าหลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 130,000 บาท ฉบับลงวันที่ 8 และ 9 กุมภาพันธ์ 2522และหลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท ฉบับลงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2522 และวันที่ 1 มีนาคม 2522 และส่งอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เอกสารทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแต่ละฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องเดียวต่อเนื่องกัน ถือได้ว่าเป็นเอกสารฉบับเดียว ศาลจึงรับฟังข้อความพยานเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 ที่ปรากฏอยู่ทั้งหมดในแต่ละฉบับนั้นได้ ทั้งตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมาย 1และ 2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือหรือไม่ ซึ่งตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 และ 2 แต่ละฉบับก็มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จึงหาได้เป็นการที่โจทก์นำสืบนอกคำฟ้องและนอกประเด็นดังที่จำเลยฎีกาไม่
เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นจดหมายที่จำเลยมีถึงโจทก์และจำเลยได้บันทึกไว้ด้านหลังของจดหมายแต่ละฉบับนั้นว่า จำเลยได้รับเงินจำนวนที่ขอยืมในแต่ละฉบับนั้นไว้เป็นการถูกต้องแล้วพร้อมกับลงลายมือชื่อวันเดือนปีไว้ด้วย เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้น หาใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในแต่ละฉบับนั้นโดยตรงอันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ ศาลจึงรับฟังเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้
จำเลยได้ยื่นคำให้การพร้อมทั้งแต่งให้ตนเองเป็นทนายความตามคำรับเป็นทนายความก็ระบุว่า สำนักงานของจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 173ถนนราชสีมา แขวงราชสีมา (ที่ถูกแขวงดุสิต) เขตดุสิต กรุงเทพมหานครอันเป็นสถานที่แห่งเดียวกัน ฟังได้ว่า จำเลยใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ทำงานสำคัญ จึงถือได้ว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลย แม้จำเลยจะระบุไว้ในคำให้การว่า อยู่บ้านเลขที่ 382 ถนนพรานนกแขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งก็ตาม
โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ตามเอกสารหมาย จ.1จำเลยตกลงจะคืนเงินที่ยืม 130,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 2 เดือนคือในวันที่ 9 เมษายน 2522 เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันนั้นและเงินยืม 50,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งไม่ได้กำหนดเวลาชำระคืนไว้ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยได้รับแล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 ครบกำหนดในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529จำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่14 พฤศจิกายน 2529 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2529จนกว่าจะชำระเสร็จ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาให้ฟ้องคดี จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย และจำเลยมิได้คัดค้านว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นไม่ถูกต้อง แม้จำเลยได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ด้วยและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share