คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนผู้คัดค้านเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 274 ผู้ร้อง ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้คัดค้าน ขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกไป ผู้ร้องให้การว่า ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวมากว่า 30 ปีแล้ว ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ในคดีนี้ผู้ร้องมายื่นคำร้องว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 274 ด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 22 ปีเศษแล้ว ผู้ร้อง จึงได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์ขอให้ศาลสั่งว่า ที่ดิน ดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง ประเด็นของคดีทั้งสองจึงมีว่า ผู้ร้องได้ ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วหรือไม่ เมื่อประเด็นแห่งคดีเหมือนกันและ เป็นคู่ความเดียวกัน ทั้งศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วย่อมต้องห้าม มิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอีก ตาม ป.พ.พ. มาตรา144.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บิดาผู้ร้องซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 275ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี จากนายเปล่งเรี่ยวแรง แต่ไม่ได้รังวัดสอบเขต บิดาผู้ร้องครอบครองที่ดินดังกล่าวรวมกับที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 274 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน14 ตารางวา แล้วยกที่ดินทั้งหมดให้ผู้ร้อง ผู้ร้องครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลา 22 ปีเศษ ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 274เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา โดยการครอบครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีจดทะเบียนแบ่งแยกให้ผู้ร้องด้วย
ผู้คัดค้านทั้งสองคัดค้านว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 274 เป็นของผู้คัดค้านทั้งสอง ผู้เช่านาของผู้ร้องทำนารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้คัดค้านทั้งสอง เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา ผู้คัดค้านทั้งสองได้ฟ้องขับไล่ผู้ร้องเป็นจำเลยและเรียกค่าเสียหายต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทก็เป็นอย่างเดียวกันว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือไม่ การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำขอให้ยกคำร้อง
ภายหลังจากสืบพยานผู้ร้องได้ 1 ปาก ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานผู้ร้อง แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 274 ของผู้คัดค้านทั้งสอง ผู้คัดค้านทั้งสองได้เป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นว่าบุกรุกที่ดินพิพาทขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่ผู้ร้องและให้ผู้ร้องใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองและศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินสมควร ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหาย ผู้ร้องยื่นฎีกาคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 บัญญัติว่า เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีว่าคดีก่อนผู้คัดค้านเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 274 ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ผู้ร้องได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้คัดค้าน ขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกไป ผู้ร้องให้การว่า ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวมากว่า 30 ปีแล้ว ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ในคดีนี้ผู้ร้องมายื่นคำร้องว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 274 ตำบลลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีของผู้คัดค้าน เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา ด้วยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 22 ปีเศษแล้วผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง ประเด็นของคดีทั้งสองจึงมีว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 แล้วหรือไม่ เมื่อประเด็นแห่งคดีเหมือนกันและเป็นคู่ความเดียวกัน ทั้งศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอีก ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share