คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถเทรลเลอร์ บรรทุกตู้สำนักงานชั่วคราวไปตามถนนวิทยุด้วยความเร็วสูงชนกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ที่เกาะกลางถนน เป็นเหตุให้ตู้สำนักงานชั่วคราวหลุดตกลงกระแทกกับรถยนต์ที่ผู้ตายขับสวนทางมารถผู้ตายเสียการทรงตัวแล่นไถลไปชนกับรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดกลางและต้นไม้ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่จำเลยขับรถยนต์ลากจูงรถพ่วงบรรทุกตู้สำนักงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงจากพื้นถนนถึง 3.60 เมตร ไปตามถนนซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมบนเกาะกลางถนนตลอดเส้นทางด้วยความเร็วสูง ในขณะที่ไฟฟ้าสาธารณะริมถนนดับหมด จนเป็นเหตุให้ตู้สำนักงานชั่วคราวที่บรรทุกมาบนรถจำเลยเฉี่ยวชนกับต้นไม้ใหญ่ข้างทาง ถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยประมาทจำเลยจึงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 กับตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 35,157 และมาตรา78,160 วรรคแรก เป็นความผิดต่างกรรม รวม 3 กระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2530 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยขับรถยนต์ประเภทส่วนบุคคลลากจูง (เทรลเลอร์) คันหมายเลขทะเบียน 83-8438 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ลากรถพ่วงที่บรรทุกตู้สำนักงานชั่วคราว กว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูงจากพื้นถนน 3.60 เมตรไปตามถนนวิทยุจากทางด้านแยกเพลินจิตมุ่งหน้าไปทางแยกวิทยุในช่องการเดินรถช่องกลางด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยจำเลยมิได้จัดให้ตู้สำนักงานชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่บนรถพ่วงได้มีสิ่งยึดเหนี่ยว ให้ติดตรึงแน่นกับรถพ่วง จำเลยเพียงแต่ตั้งตู้สำนักงานชั่วคราวไว้บนรถพ่วงเท่านั้น และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตู้สำนักงานชั่วคราวที่บรรทุกอยู่บนรถพ่วงนั้นมีขนาดใหญ่ และสูงจำเลยจำต้องหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ถนนที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมเพื่อมิให้ไปชนกระแทกกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนถนน และจำเลยจำต้องขับรถในช่องเดินรถซ้ายสุดตามกฎหมาย แต่จำเลยมิได้กระทำกลับขับรถคันดังกล่าวแล่นไปบนถนนวิทยุด้วยความเร็วสูง ขณะที่จำเลยขับรถไปถึงหน้าสถานทูตนิวซีแลนด์ ตู้สำนักงานชั่วคราวซึ่งอยู่บนรถพ่วงจึงกระแทกกับต้นไม้ต้นหนึ่งบนเกาะกลางถนนซึ่งยื่นล้ำเข้ามาในทางด้านซ้ายมือทำให้ตู้สำนักงานชั่วคราวขยับเคลื่อนและเลื่อนตกจากรถพ่วงในลักษณะปิดขวางล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถสวน ขณะนั้นนายอุกฤษ บุญดีเจริญ ขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อวอลโว่หมายเลขทะเบียน8 จ-9759 กรุงเทพมหานคร แล่นมาตามถนนวิทยุ สวนทางกับรถยนต์คันที่จำเลยขับไป ตู้สำนักงานชั่วคราวดังกล่าวได้กระแทกเข้ากับรถยนต์เก๋งวอลโว่บริเวณด้านขวามือ ตรงจุดคนขับทำให้ห้องเครื่องยนต์และหลังคารถบุบยุบ ได้รับความเสียหาย นายอุกฤษได้รับบาดเจ็บสาหัสและหมดสติไม่สามารถบังคับรถได้ รถยนต์วอลโว่ได้เสียหลักแล่นไถลขึ้นไปบนเกาะกลางถนนเฉี่ยวชนกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งซึ่งอยู่บนเกาะนั้นหน้ารถยนต์วอลโวเลยเกาะล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถช่องที่ 2 จากทางเท้าซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่นายสุบิน ศรีศร ขับรถยนต์โดยสารขนาดกลางหมายเลขทะเบียน30-0153 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนวิทยุในช่องทางเดินรถช่องที่ 2จากทางเท้าดังกล่าวจากด้านแยกเพลินจิตมุ่งหน้าไปทางแยกวิทยุผ่านไปถึงบริเวณนั้น เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารขนาดกลางชนกับด้านหน้ารถยนต์วอลโว ทำให้รถยนต์โดยสารขนาดกลางได้รับความเสียหายต่อมาวันรุ่งขึ้นนายอุกฤษถึงแก่ความตาย เกิดเหตุแล้วจำเลยได้หลบหนีไปไม่ช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 35, 43, 78, 157, 160
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 35, 43, 78,157, 160 วรรคแรก แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291กับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 35, 157 ปรับ 1,000บาท และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา78, 160 วรรคแรก จำคุก 1 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 1 เดือน ปรับ1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2530 เวลาประมาณ 24 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์ส่วนบุคคลประเภทลากจูงหรือรถเทรลเลอร์ลากรถพ่วงบรรทุกตู้สำนักงานชั่วคราวโดยมีโซ่เหล็กขนาด 3 หุน จำนวน 2 เส้น รัดตู้ดังกล่าวทางด้านหน้าและด้านหลังไว้กับรถพ่วงไปบนถนนวิทยุในทางเดินรถช่องกลางจากทางแยกเพลินจิตมุ่งหน้าไปทางแยกวิทยุ ขณะนั้นไฟฟ้าสาธารณะบนถนนวิทยุดับตลอดทาง เมื่อจำเลยขับรถถึงสถานที่เกิดเหตุ ตู้สำนักงานชั่วคราวซึ่งจำเลยบรรทุกมาได้ชนกระแทกกับต้นไม้ใหญ่บนเกาะกลางถนนที่ยื่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถ เป็นเหตุให้ตู้สำนักงานชั่วคราวเลื่อนตกจากรถพ่วงลงไปบนพื้นถนน ตู้ดังกล่าวจึงขวางทางรถในช่องเดินรถที่แล่นสวนมา ขณะเดียวกันผู้ตายได้ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อวอลโว ไปตามถนนวิทยุในทางเดินรถช่องกลางจากทางแยกวิทยุมุ่งหน้าไปทางแยกเพลินจิตสวนทางกับรถจำเลย ต่อมาปรากฏว่ารถคันที่ผู้ตายขับได้ชนต้นไม้และชนกับรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดกลางรถคันที่ผู้ตายขับและรถโดยสารปรับอากาศขนาดกลางได้รับความเสียหาย วันรุ่งขึ้นผู้ตายถึงแก่ความตาย
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 35, 157 ปรับ 1,000 บาท และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคแรก จำคุก 1 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยขับรถเข้าไปในช่องซ้ายสุดไม่ได้ เพราะมีรถอื่นจอดขวางอยู่ก็ดี ไม่ทราบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจึงมิได้แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ก็ดี เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยในข้อดังกล่าวไว้ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฉะนั้น คดีจึงคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่ารถยนต์คันที่ผู้ตายขับมิได้เฉี่ยวชนกับตู้สำนักงานชั่วคราวที่จำเลยบรรทุกมา หากแต่ผู้ตายเมาสุราขับรถด้วยความเร็วสูงพลิกคว่ำหลายตลบชนฟุตบาธ ชนต้นไม้และชนกับรถโดยสารที่นายสุบิน ศรีศรขับสวนทางมานั้น โจทก์มีนายอุดม อาสา ซึ่งเป็นยามรักษาการณ์อยู่ที่บริษัทกัวฮัวหลิม จำกัด ใกล้กับที่เกิดเหตุเบิกความเป็นพยานว่า เห็นรถยนต์เทรลเลอร์ บรรทุกตู้สำนักงานชั่วคราวแล่นมาตามถนนวิทยุในช่องเดินรถช่องกลางมุ่งหน้าไปทางสี่แยกวิทยุได้ยินเสียงดังโครมจึงหันไปดู เห็นตู้สำนักงานชั่วคราวซึ่งรถเทรลเลอร์ บรรทุกมาชนกับต้นก้ามปูซึ่งขึ้นอยู่ที่เกาะกลางถนนตู้สำนักงานชั่วคราวเอียงออกนอกรถล้ำเข้าไปในช่องทางของรถที่วิ่งสวนทางมาแต่ยังไม่ตกถึงพื้นถนน ขณะนั้นรถที่ผู้ตายขับแล่นสวนทางมาในช่องเดินรถช่องกลางได้ชนปะทะกับตู้สำนักงานชั่วคราวมีไอน้ำพุ่ง ขึ้นกระจกแตกละเอียด และมีแผ่นกระดาษกระเด็นออกมารถคันที่ผู้ตายขับเสียการทรงตัว แฉลบขึ้นเกาะกลางถนนด้านขวามือของรถผู้ตาย ชนกับต้นไม้บนเกาะกลางถนน แล้วไปชนกับรถยนต์โดยสารอีกคันหนึ่งที่แล่นสวนทางมาในช่องทางเดินรถด้านข้างกับโจทก์มีนายสุบิน คนขับรถยนต์โดยสารซึ่งถูกผู้ตายเฉี่ยวชนเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อพยานขับรถถึงบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ พยานเห็นแสงไฟของรถยนต์คันที่ผู้ตายขับแล่นสวนทางมาในทางเดินรถช่องกลางมีลักษณะส่ายไปส่ายมา ซึ่งพยานเข้าใจว่ารถผู้ตายเสียการทรงตัวพุ่งเข้ามาหา รถพยาน ขณะนั้นรถคันดังกล่าวหลังคายุบ กระจกหน้าแตกและผู้ตายเอนนอนไปทางด้านซ้ายของเบาะที่นั่ง รถผู้ตายแล่นขึ้นเกาะกลางถนนชนกับรถที่พยานขับทางด้านขวา แล้วเสียหลักไปชนกับต้นไม้บนเกาะกลางถนน เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องรายละเอียด และแม้จะได้ความว่าขณะเกิดเหตุไฟฟ้าสาธารณะบนถนนวิทยุดับตลอดทาง แต่ก็ไม่ใช่มืดสนิท เพราะไฟฟ้าตามอาคารบ้านเรือนสองฝั่งถนนยังไม่ดับทั้งไฟหน้ารถในที่เกิดเหตุย่อมส่องสว่างมองเห็นกันได้ถนัดส่วนที่ว่า หลักฐานการลงเวลาทำงานของนายอุดม พยานโจทก์ไม่มีการรับรองจากบริษัทกัวฮัวหลิม จำกัด นายจ้างนั้น ก็ได้ความจากนายอุดมพยานโจทก์ว่า คืนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจขอที่อยู่พยานจึงเขียนที่อยู่ไว้ด้านหลังเอกสารหมาย จ.3 ให้ไป ซึ่งร้อยตำรวจเอกสมพงษ์ ศุภนันท์ พนักงานสอบสวน ก็ได้เบิกความรับรองความข้อนี้ จึงไม่ใช่ข้อส่อพิรุธอันจะทำให้น้ำหนักถ้อยคำของนายอุดมพยานโจทก์เสียไป นอกจากนั้น ร้อยตำรวจเอกสมพงษ์พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ได้ส่งเศษฟิล์มกรองแสงซึ่งติดอยู่ใต้ตู้สำนักงานชั่วคราวกับเศษฟิล์มกรองแสงที่ติดกระจกหน้ารถยนต์ผู้ตายไปทำการตรวจพิสูจน์และร้อยตำรวจเอกอภิชาติ โกญจนาทเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ก็ได้เบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.13 ว่า ฟิล์มทั้งสองชิ้นมีลักษณะเชื่อว่าเป็นฟิล์มชนิดเดียวกัน ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ภาพถ่ายรถยนต์โดยสารปรับอากาศหมาย จ.2 (ภาพที่ 3) แล้วเห็นว่าได้รับความเสียหายทางด้านขวาไม่มากนัก ส่วนภาพถ่ายรถยนต์คันที่ผู้ตายขับหมาย จ.1, จ.2 (ภาพที่ 2), จ.6 (ภาพที่ 4 ถึง 10), จ.16,จ.17 และ จ.18 นั้น ปรากฏรถยนต์คันที่ผู้ตายขับเสียหายอย่างมากกันชนหน้าขวาบิดงอ บังโคลนหน้าขวาฉีกขาด ฝากระโปรง บุบและงอพับย่นหลังคาจากมุมหลังด้านหน้าขวายุบเฉียงทแยง ไปทางมุมหลังคาหลังด้านซ้ายเหล็กขอบประตูหน้าขวา และเหล็กขอบกระจกหน้าขวาหลุดออกจากหลังคายางรถด้านขวาทั้งล้อหน้าและล้อหลังแตก และเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายตู้สำนักงานชั่วคราวหมาย จ.21 (ภาพแรก), จ.47 (ภาพที่ 2 และภาพที่ 4) พบว่า คานเหล็กใต้พื้นตู้ด้านล่างซ้ายถูกแรงกระแทกคดงอและมีคราบสีฟ้าของรถคันที่ผู้ตายขับติดอยู่ กับมีเศษฟิล์มกรองแสงกระจกรถยนต์ติดอยู่เศษฟิล์มดังกล่าวเป็นชนิดเดียวกับฟิล์มกรองแสงซึ่งติดกระจกหน้ารถยนต์คันที่ผู้ตายขับ ศาลฎีกาเห็นว่า สภาพของรถคันที่ผู้ตายขับ ชี้ให้เห็นว่า เกิดขึ้นจากการชนกับตู้สำนักงานชั่วคราวอย่างรุนแรง หาใช่เกิดจากการชนกับรถยนต์โดยสารหรือต้นไม้ดังที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างมาลอย ๆ ไม่ ส่วนที่ นายสุวรรณ กันทะดงพยานจำเลย เบิกความอ้างว่า หลังเกิดเหตุประมาณ 3 วัน พยานเห็นชาย2 คน แต่งกายคล้ายตำรวจเป็นผู้ฉีดสเปรย์สีฟ้า และเอาฟิล์มกรองแสงเลื่อนไว้ที่ตู้ดังกล่าวก่อนถ่ายภาพนั้น ปรากฏว่า ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุวรรณ เอกสารหมาย จ.50 มิได้ให้ถ้อยคำถึงเรื่องที่เบิกความต่อศาลแต่ประการใดเลย คำเบิกความของนายสุวรรณจึงขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันฟังได้ว่า จำเลยขับรถเทรลเลอร์ บรรทุกตู้สำนักงานชั่วคราวชนกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ที่เกาะกลางถนนเป็นเหตุให้ตู้สำนักงานชั่วคราวหลุดตกลงกระแทกกับรถยนต์ที่ผู้ตายขับสวนทางมา รถตู้ผู้ตายเสียการทรงตัวแล่นไถลไปชนกับรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดกลางและต้นไม้ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และตู้สำนักงานชั่วคราวเป็นตู้ขนาดใหญ่กว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูงประมาณ 2.40 เมตร โครงตู้เป็นเหล็กผนังและหลังคาเป็นแผ่นโลหะมีน้ำหนักมาก มีโซ่เหล็กขนาด 3 หุนจำนวน 2 เส้น มัดตรึงไว้ แต่การชนกับต้นไม้เป็นเหตุให้โซ่เหล็กดังกล่าวขาดลง และตู้ตกจากพื้นรถ เห็นได้ว่า ได้ชนกระแทกกับต้นไม้อย่างแรง แสดงว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูง การที่จำเลยขับรถยนต์ลากจูงรถพ่วง บรรทุกตู้สำนักงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงจากพื้นถนนถึง 3.60 เมตร ไปตามถนนซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมบนเกาะกลางถนนตลอดเส้นทางด้วยความเร็วสูง ในขณะที่ไฟฟ้าสาธารณะริมถนนดับหมด จนเป็นเหตุให้ตู้สำนักงานชั่วคราวที่บรรทุกมาบนรถจำเลยเฉี่ยวชนกับต้นไม้ใหญ่ข้างทาง ย่อมถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในฐานะจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายดังฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์เรียงกระทงลงโทษเป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 35, 157 และมาตรา 78, 160 วรรคแรก เป็นความผิดต่างกรรม ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยนั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี ในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไปเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาศาลอุทธรณ์

Share