คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ แม้ในท้องที่ของศาลชั้นต้นจะมีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตามแต่เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 เป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8(1) ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ จำเลยที่ 5 ยืนยังไม่ให้คนอื่นเห็นการชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 จึงเป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5 เป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดในขณะแต่ละคนอายุไม่เกิน 20 ปีโดยมิได้ใช้กำลังประทุษร้ายมิได้ใช้อาวุธหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพียงแต่ใช้กิริยาท่าทีในการขู่บังคับ พฤติการณ์แห่งความผิดไม่ร้ายแรงนัก เป็นการกระทำของเด็กวัยคะนอง สมควรลงโทษสถานเบาและลดมาตราส่วนโทษให้ด้วย ปัญหาการกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งห้า สำหรับความผิดในลักษณะนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในลักษณะคดี ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 371, 83 คืนนาฬิกาของกลางแก่เจ้าของ ริบมีดปลายแหลมให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคานาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ราคา1,200 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ด้วย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่งด้วย จำเลยที่ 5 กระทำผิดเมื่อมีอายุ 17 ปีเศษ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 15 ปีจำเลยที่ 3 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานปล้นทรัพย์จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 90 บาท ทางนำสืบของจำเลยทุกคนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยคนละหนึ่งในสามแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 10 ปีจำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปี และปรับ 60 บาท คืนนาฬิกาของกลางให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ริบมีดปลายแหลมด้วย คำขอนอกจากนี้ให้ยกบังคับค่าปรับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 5 มีว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 5 เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนพ.ศ. 2494 มาตรา 8(1) ได้กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเยาวชนซึ่งอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภท ตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อคดีนี้เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตราดังกล่าวและจำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ แม้ในท้องที่ของศาลชั้นต้นจะมีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม แต่เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 เป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 5ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไป จำเลยที่ 5 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์หรือไม่ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้งห้าได้พากันขึ้นรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 103 โดยจำเลยที่ 3 มีอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่มติดตัวไปด้วย แล้วจำเลยที่ 1 ได้พูดขอนาฬิกาข้อมือจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งโดยสารอยู่บนรถ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยอม จำเลยที่ 2 จึงดึงมือผู้เสียหายที่ 1 ปลดเอานาฬิกาข้อมือไป ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ได้พูดขอนาฬิกาข้อมือจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งนั่งโดยสารอยู่อีกด้านหนึ่ง ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอม แต่พอจำเลยที่ 3 มองไปที่นาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายที่ 2 อีกผู้เสียหายที่ 2 ก็รีบถอดนาฬิกาข้อมือให้จำเลยที่ 3 ไป แล้วจำเลยทั้งห้าได้พากันลงจากรถ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจตามจับจำเลยทั้งห้าได้พร้อมกับยึดนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายที่ 2 กับอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่ม จากจำเลยที่ 3เป็นของกลาง ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เอานาฬิกาของผู้เสียหายไปก็เพียงเพื่อหยามผู้เสียหายเท่านั้นไม่มีเจตนาปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยทั้งห้าขึ้นไปบนรถ จำเลยที่ 1 ก็เข้านั่งเบียดผู้เสียหายที่ 1 ทันทีทั้งที่มีคนนั่งเต็มสองคนแล้ว จำเลยที่ 1 ได้พูดขอนาฬิกาจากผู้เสียหายที่ 1 ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่พอผู้เสียหายที่ 1ไม่ยอมให้ จำเลยที่ 2 ก็ดึงจำเลยที่ 1 ลุกขึ้นแล้วเข้านั่งเบียดแทนพร้อมกับดึงมือผู้เสียหายที่ 1 ปลดเอานาฬิกาไป ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็เข้านั่งเบียดผู้เสียหายที่ 2 พูดขอนาฬิกา แต่พอผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธ ก็มองไปที่นาฬิกาจนผู้เสียหายที่ 2 กลัว จำต้องถอดนาฬิกามอบให้แล้วจำเลยทั้งห้าก็พากันลงจากรถหลบหนีทันที โดยเอานาฬิกาข้อมือทั้งสองเรือนไปเป็นกรรมสิทธิ์ด้วย จึงหาใช่เป็นการทำเพียงเพื่อหยามกันดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกาไม่ที่จำเลยที่ 5 นำสืบว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 5 ยืนโหนอยู่ที่บันไดหลังของรถยนต์โดยสาร ไม่ทราบเหตุการณ์บนรถนั้น ขัดแย้งกับคำรับของจำเลยที่ 5เอง ตอนนำชี้ที่เกิดเหตุในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.1แผนที่ 2 กับ จ.12 ซึ่งจำเลยที่ 5 รับว่าขณะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3บังคับเอานาฬิกาของผู้เสียหายทั้งสองอยู่ จำเลยที่ 4 กับที่ 5ได้ยืนบังอยู่บนทางเดินกลางรถระหว่างเบาะนั่งของผู้เสียหายทั้งสองเพื่อบังไม่ให้ผู้อื่นเห็น จำเลยที่ 5 มิได้นำสืบและโต้แย้งมาในฎีกาว่าบันทึกตามเอกสารสองฉบับนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร ข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 5 ยืนโหนบันไดรถไม่ทราบเหตุการณ์บนรถจึงฟังไม่ขึ้นที่จำเลยที่ 5 ยืนบังไม่ให้คนอื่นเห็นการชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 จึงเป็นการร่วมกระทำความผิด โดยแบ่งหน้าที่กันทำจำเลยที่ 5 เป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 5 มีว่า โทษจำคุกที่ลงแก่จำเลยที่ 5 สูงไปหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดในขณะแต่ละคนอายุไม่เกิน 20 ปี ได้ร่วมกระทำความผิดโดยเพียงแต่บังคับเอานาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายทั้งสอง โดยมิได้ใช้กำลังประทุษร้ายมิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพียงแต่ใช้กิริยาท่าทีในการขู่บังคับ อันเป็นการขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น พฤติการณ์แห่งความผิดไม่ร้ายแรงนักเป็นการกระทำของเด็กวัยคะนอง สมควรลงโทษจำเลยทั้งห้าโดยสถานเบาและลดมาตราส่วนโทษให้ด้วย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองในการกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษ ปัญหาการกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งห้า สำหรับความผิดในลักษณะนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในลักษณะคดี ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาแก้ไขให้เหมาะสมได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งห้าคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76ให้จำคุกคนละ 8 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 5 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share