คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องรบกวนสิทธิครอบครองที่พิพาทของโจทก์และขอให้เพิกถอนประทานบัตรการทำเหมืองแร่ในที่พิพาทของจำเลยที่ 2 จำเลยฟ้องแย้งโดย ฟ้องแย้งเดิมก่อนที่จำเลยจะขอแก้ไขจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายที่ขาดกำไรสุทธิจากการทำเหมืองแร่ในที่พิพาทวันละ 15,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์แกล้งร้องคัดค้านการออกประทานบัตรของจำเลยที่ 2แกล้งฟ้องคดีนี้ และแกล้งนำเอาสำเนาคำฟ้องไปยื่นร้องคัดค้านการออกประทานบัตรดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรธรณีอันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 แต่ปัญหาว่าที่พิพาทโจทก์ที่ 1 หรือจำเลยที่ 2มีสิทธิครอบครองโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ในขณะฟ้องแย้งทั้งสิทธิทำเหมืองแร่ในที่พิพาทของจำเลยที่ 2 ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของทางราชการจำเลยยังไม่มีสิทธิโดย สมบูรณ์ที่จะเข้าทำเหมืองแร่ในที่พิพาทการที่โจทก์กระทำการดังกล่าว จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งยังไม่มีอยู่ในขณะฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวเป็นฟ้องที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนนี้ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่แก้ไขขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้โจทก์รื้อถอนเรือนแถวที่พักของคนงานและทำให้ที่ดินมีสภาพเหมือนเดิม และให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยวันละ 15,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้เข้าทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ในที่พิพาท ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2521จำเลยขอแก้ไขฟ้องแย้งและได้รับอนุญาตจากศาลเมื่อวันที่ 13ธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิในที่พิพาทในขณะที่ขอแก้ไขฟ้องแย้ง การที่โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ในที่พิพาทจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยแล้ว ทั้งการที่จำเลยแก้ไขฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องและให้โจทก์รื้อถอนเรือนแถวที่พักของคนงานนั้น ถือได้ว่าเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนดังกล่าวแต่ที่จำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยวันละ 15,000บาทนั้น จำเลยอ้างในฟ้องแย้งที่แก้ไขว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2521 จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิและอำนาจที่จะทำเหมืองแร่ในที่พิพาทได้แต่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ ในที่พิพาทตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2521 จำเลยที่ 2 จึงไม่สามารถทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรได้ ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งและออกหมายห้ามตามคำขอในเหตุฉุกเฉินในวันเดียวกันนั้น แต่มูลหนี้ตามฟ้องแย้งเกี่ยวกับค่าเสียหายของจำเลยนี้เกิดจากกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่เรียกว่าวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา อันเป็นกรณีที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหากจากคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่ขอเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ชอบที่จะฟ้องโจทก์เป็นคดีต่างหากตามมาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ที่ตำบลสวนผึ้ง กิ่งอำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรีรวมเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ โดยก่น สร้างแผ้วถางและครอบครองทำประโยชน์มานาน 20 ปีเศษ โจทก์ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ประมาณ 50 ไร่อีก 150 ไร่ โจทก์ครอบครองปลูกเรือนและปลูกต้นไม้ ที่ดินทั้งหมดอยู่ในเขตที่ทางราชการทหารหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในราชการแต่ยังมิได้ใช้ประโยชน์ จึงอนุญาตให้โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินได้เมื่อเดือนมิถุนายน 2521 เป็นต้นมา จำเลยที่ 2 ได้ใช้หรือวานให้จำเลยที่ 1 เข้าไปไถในที่ดินเพื่อรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์เป็นเหตุให้ไม้ยืนต้นและพืชล้มลุกของโจทก์ถูกทำลายเสียหายคิดเป็นเงิน 145,000 บาท ก่อนจำเลยบุกรุก จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในที่ดินซึ่งโจทก์ครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณี โดย ปกปิดเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีและทางราชการทหารไม่แจ้งให้ทราบว่าโจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวอยู่ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2521 ทางราชการได้ออกประทานบัตรที่ 11936/12206 ให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการออกประทานบัตรทับที่ดินซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่รวมเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ โจทก์ได้คัดค้านมาแล้วตั้งแต่ต้น และจำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์ว่าขัดขวางการที่จำเลยที่ 2 ขอประทานบัตรศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าเป็นที่ดินของโจทก์ครอบครองอยู่ก่อนประมาณ 50 ไร่ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 145,000 บาทและขอให้เพิกถอนประทานบัตรที่ 11936/12206 ลงวันที่ 2พฤศจิกายน 2521
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขฟ้องแย้งว่าที่ดินที่โจทก์ฟ้องและที่ดินบริเวณข้างเคียงอยู่ในเขตหวงห้ามของกองทัพบก ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 กองทัพบกอนุญาตให้โจทก์ที่ 1มีสิทธิใช้ที่ดินเนื้อที่ 50 ไร่ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเพื่อทำเหมืองแร่ ในปี พ.ศ. 2518 โจทก์ได้รับประทานบัตรจากกรมทรัพยากรธรณีตามหมายเลขท่อเหล็กที่ 11935 ให้ทำเหมืองแร่ในที่ดิน 50 ไร่ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินเพียงนั้น ส่วนทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองมีเนื้อที่ประมาณ 226 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวากองทัพบกอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อทำเหมืองแร่ จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองมาตั้งแต่วันที่ 6มิถุนายน 2520 และดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอประทานบัตรเหมืองแร่บนที่ดินที่ได้รับอนุญาตตลอดมาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ปลูกเรือนแถวที่พักคนงานสำหรับทำเหมืองแร่ 1 หลัง บนที่ดินที่จำเลยที่ 2 ครอบครองดังกล่าวแต่โจทก์ใช้รถแทรกเตอร์ไถมูลทรายเข้ามากองไว้ในที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2ครอบครองและปลูกบ้านพักคนงานรุกล้ำเข้าไปด้วย โจทก์ที่ 1 ได้ยอมรับรองกับจำเลยที่ 2 ต่อหน้าเจ้าพนักงานกรมทรัพยากรธรณีว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรแล้ว โจทก์จะรื้อถอนเรือนแถวที่พักคนงานทั้งหมดพร้อมทั้งลอกเอามูลดินทรายทั้งหมดออกไปจากที่ดินที่จำเลยที่ 2 ครอบครองอยู่ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2520จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 13/2507 ต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์ได้ยื่นคัดค้านขอให้ระงับการออกประทานบัตรแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้และนำคำฟ้องไปยื่นคำร้องคัดค้านต่อกรมทรัพยากรธรณีอีก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงยังไม่มีคำสั่งให้ออกประทานบัตรแก่จำเลยที่ 2ต่อมา จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2521จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะทำเหมืองแร่ในที่พิพาทได้ แต่โจทก์ในคดีนี้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำการใด ๆในที่พิพาท ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2521 จำเลยที่ 2 จึงไม่สามารถทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรได้ ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายกล่าวคือ จำเลยที่ 2 ลงทุนเตรียมการทำเหมืองแร่ไว้ เป็นเงิน 2,172,200 บาท จากการตรวจสอบพบว่าในที่ดินแปลงพิพาทจะมีแร่ถึง 6,000 หาบ และสามารถผลิตแร่ได้เดือนละ150 หาบ หาบละ 10,000 บาท เป็นเงิน 1,500,000 บาท ต่อเดือนหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วจำเลยที่ 2 จะได้กำไรสุทธิเดือนละ600,000 บาท หรือวันละ 20,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ขอคิดจากโจทก์เพียงวันละ 15,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตร ห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไปและให้โจทก์รื้อถอนเรือนแถวที่พักของคนงานและทำให้ที่ดินมีสภาพเหมือนเดิม กับให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยวันละ15,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้ถอนคำร้องคัดค้านการออกประทานบัตรและนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2521เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้เข้าทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร
โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การที่กองทัพบกอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าไปใช้ที่ดินทำเหมืองแร่ได้ก็เพราะจำเลยที่ 2ปกปิดความจริงไม่แจ้งให้ทราบว่าโจทก์ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนเมื่อโจทก์ทราบก็ได้คัดค้านเพื่อคุ้มครองสิทธิของโจทก์ และขณะนั้นจำเลยยังหาได้ครอบครองที่ดินไม่ เพียงแต่นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถทำลายต้นไม้ซึ่งเป็นพืชผลของโจทก์เสียหาย ที่จำเลยที่ 2ฟ้องแย้งว่าโจทก์ที่ 1 เคยตกลงรื้อถอนเรือนพักคนงานและกองมูลทรายออกไปจากที่ดินเมื่อจำเลยได้รับประทานบัตรแล้วนั้น โจทก์เข้าใจว่าเรือนพักคนงานและกองมูลทรายอยู่นอกเขตประทานบัตรเหมืองแร่ของโจทก์ และนอกเขตที่ดินที่โจทก์ทำไร่ครอบครองอยู่ และหากจำเลยได้ประทานบัตรมาก็ย่อมมีสิทธิในที่ดินนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ยอมรับรองว่าเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองทั้งหมดผู้บันทึก บันทึกข้อความไม่ชัดเจน และโจทก์เข้าใจว่าหากจำเลยขอประทานบัตรได้โจทก์ก็ต้องรื้อถอนเฉพาะบ้านพักคนงานและกองมูลทรายออกไปจากเขตประทานบัตรของจำเลยเท่านั้น ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินที่ตำบลสวนผึ้ง กิ่งอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่226 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันรื้อถอนเรือนแถวที่พักคนงานออกจากที่พิพาทและไถกองมูลดินที่โจทก์ทำไว้ออกไปด้วย ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยวันละ 15,000 บาท นับแต่วันที่ 2พฤศจิกายน 2521 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2522 และนับแต่วันที่ 18มีนาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะเข้าทำเหมืองแร่ในที่พิพาทได้ ให้ยกฟ้องของโจทก์ โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ข้อ 2.ก.(3)ที่ว่า ฟ้องแย้งเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 315/2508 ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ฎีกาข้อดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งจึงไม่มีประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246และ 247 ส่วนฎีกาข้อ 2.ก.(2) และ (4) ที่ว่าโจทก์มีสิทธิขอแก้ไขคำฟ้อง และทางราชการออกประทานบัตรให้จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏว่าเป็นข้อที่โจทก์ที่ 1 มิได้ยกขึ้นว่าในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาข้อ 2 ข. เกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริงนั้น โจทก์ที่ 1 มีสิทธิฎีกาได้เฉพาะในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่พิพาท จำเลยที่ 2บุกรุกที่พิพาทดังฟ้องโจทก์หรือไม่ และประเด็นเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ ซึ่งเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้วเท่านั้น ส่วนข้อฎีกาว่าจำเลยได้หนังสืออนุญาตจากพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ โดยสุจริตหรือไม่ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในประเด็นที่ว่า โจทก์ที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่พิพาท และจำเลยที่ 2 บุกรุกที่พิพาทดังฟ้องโจทก์หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินที่หวงห้ามไว้ใช้เพื่อประโยชน์ในทางราชการทหาร ผู้ใดจะใช้ที่ดินดังกล่าวทำประโยชน์จะต้องได้รับอนุญาตจากกองทัพบกก่อนซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตจากกองทัพบกให้เข้าไปทำเหมืองแร่ในบริเวณที่พิพาทได้ และจำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรที่11936/12206 โดย กรมทรัพยากรธรณีอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในบริเวณนั้น โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นผู้หักร้างก่นสร้างที่พิพาทและเข้าครอบครองทำประโยชน์มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว โดย ปลูกเรือนอยู่อาศัยและปลูกต้นกล้วย ละหุ่ง ขนุน เต็มพื้นที่คดีนี้ศาลได้เดินเผชิญสืบที่พิพาท เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2522 ปรากฏว่า ไม่มีพืชผลตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบดังกล่าว ขณะนั้นเป็นระยะเวลา หลังจากที่โจทก์อ้างว่าฝ่ายจำเลยเข้าไปไถที่พิพาทประมาณ 8 เดือน แต่ไม่ปรากฏมีร่องรอยว่าได้มีการไถทำลายต้นพืชไร่แต่อย่างใด ในบริเวณที่พิพาทมีสถาพเป็นป่าดงอ้อ กอไผ่ตามธรรมชาติ มีต้นละหุ่งขึ้นประปราย ซึ่งฝ่ายจำเลยอ้างว่าเป็นต้นละหุ่งป่า มีต้นกล้วย และต้นขนุนเพียงเล็กน้อยอยู่ใกล้บ้านพักคนงานของโจทก์ ลักษณะของที่พิพาทมีลักษณะเป็นป่าตามธรรมชาติ ดังที่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 นายน้อย ยิ่งทวี นายประกิต ใจบำเพ็ญและนายอัมพร บุญยะวาสี พยานโจทก์ว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่ป่าไม้ไผ่ ดงอ้อ และป่าไม้เบญจพรรณซึ่งเป็นลักษณะของป่าโปร่งดังที่ยังปรากฏอยู่ในขณะที่ศาลเดินเผชิญสืบที่พิพาท ดังนั้น จึงเชื่อไม่ได้ว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทตามที่ฟ้องและนำสืบ ในคดีก่อนที่โจทก์จำเลยพิพาทกัน ศาลก็เพียงวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดิน 50 ไร่เท่านั้น ซึ่งรับกับที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เคยยื่นคำขอออกประทานบัตรในเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เมื่อสำรวจแล้วปรากฏว่าทับที่ดินส่วนของโจทก์ 50 ไร่ ดังกล่าว และทับที่ดินประทานบัตรของนายต่อ สัจจกุล อีกประมาณ 20 ไร่ จึงตัดออก คงเหลือเนื้อที่ประมาณ 226 ไร่เศษ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์ที่ 1 เคยรับต่อเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีว่าจะรื้อถอนขนย้ายออกไปจากเขตประทานบัตรของจำเลยที่ 2 เป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1ยอมรับในสิทธิของจำเลยที่ 2 ในเขตประทานบัตรดังกล่าว และเมื่อคำนึงถึงว่ากองทัพบกได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าไปทำเหมืองแร่ในบริเวณที่พิพาทประกอบกับกรมทรัพยากรธรณีก็ออกประทานบัตรให้จำเลยที่ 2 ทำเหมืองแร่ในบริเวณนั้นได้แล้ว ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินบริเวณที่พิพาท ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่ 1 มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทและเมื่อฟังเช่นนี้แล้วก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มิได้บุกรุกที่พิพาทดังโจทก์ฟ้องไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1
สำหรับที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาเกี่ยวกับฟ้องแย้งตามฎีกาข้อ 2.ก.(1)ว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและวินิจฉัยเป็นประเด็นมาโดยไม่ชอบนั้น แม้โจทก์ที่ 1 มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งในข้อดังกล่าวไว้ แต่ข้อฎีกานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ที่ 1ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ปัญหานี้ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งเดิมก่อนที่จำเลยจะขอแก้ไข ปรากฏว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายที่ขาดกำไรสุทธิจากการทำเหมืองแร่ในที่พิพาทวันละ 15,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์แกล้งร้องคัดค้านการออกประทานบัตรของจำเลยที่ 2 แกล้งฟ้องคดีนี้ และแกล้งนำเอาสำเนาคำฟ้องไปยื่นร้องคัดค้านการออกประทานบัตรดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรธรณีอันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 เห็นว่า ปัญหาว่าที่พิพาทโจทก์ที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ในขณะฟ้องแย้ง ทั้งสิทธิทำเหมืองแร่ในที่พิพาทของจำเลยที่ 2 ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของทางราชการจำเลยยังไม่มีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเข้าทำเหมืองแร่ในที่พิพาทการที่โจทก์ไปร้องคัดค้านการขอออกประทานบัตรของจำเลยที่ 2 ฟ้องคดีนี้ตลอดจนนำสำเนาคำฟ้องไปยื่นร้องคัดค้านต่อกรมทรัพยากรธรณีจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งยังไม่มีอยู่ในขณะฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวเป็นฟ้องที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนนี้ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่แก้ไขขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตร ห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้โจทก์รื้อถอนเรือนแถวที่พักของคนงานและทำให้ที่ดินมีสภาพเหมือนเดิมและให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยวันละ 15,000 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้เข้าทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรนั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นฎีกาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ในที่พิพาทตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน2521 จำเลยขอแก้ไขฟ้องแย้งและได้รับอนุญาตจากศาลเมื่อวันที่13 ธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิในที่พิพาทในขณะที่ขอแก้ไขฟ้องแย้ง การที่โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ในที่พิพาท จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยแล้ว ทั้งการที่จำเลยแก้ไขฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง และให้โจทก์รื้อถอนเรือนแถวที่พักของคนงานนั้น ถือได้ว่าเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนดังกล่าว แต่ที่จำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยวันละ 15,000 บาทนั้น จำเลยอ้างในฟ้องแย้งที่แก้ไขว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่2 พฤศจิกายน 2521 จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิและอำนาจที่จะทำเหมืองแร่ในที่พิพาทได้ แต่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ ในที่พิพาทตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2521จำเลยที่ 2 จึงไม่สามารถทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรได้ ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย ในข้อนี้ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและออกหมายห้ามตามคำขอในเหตุฉุกเฉินของโจทก์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521 เห็นว่า มูลหนี้ตามฟ้องแย้งเกี่ยวกับค่าเสียหายของจำเลยนี้เกิดจากกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่เรียกว่าวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาอันเป็นกรณีที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายคือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหากจากคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมชอบที่จะฟ้องโจทก์เป็นคดีต่างหากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนฟ้องแย้งดังกล่าวในคดีนี้ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share