คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับจำเลยจะขอถือเอาคำแถลงการณ์ปิดคดีในศาลชั้นต้นเป็น ส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยไม่ได้ จำเลยไม่ได้ฎีกาคัดค้านว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2ที่วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2531 ถึงวันที่14 กรกฎาคม 2531 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยได้ก่อสร้างอาคารตึกสามชั้นครึ่งจำนวน 5 คูหาแบบถาวร อันเป็นอาคารพาณิชยกรรมขึ้น ณ ที่ดินโฉนดเลขที่ 242ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยในวันที่ 21 มกราคม 2531 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้รับใบอนุญาตไว้จนกว่าจำเลยจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำเลยทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2531 ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยยังก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต่อไปจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 โดยไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 21, 40, 65, 67, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 40 วรรคแรก,65 วรรคแรก, 67 ประกอบ มาตรา 70 ลงโทษฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท และฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ปรับวันละ 5,000 บาทนับแต่วันที่ 23 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เป็นเงิน870,000 บาทรวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 910,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ606,666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้แถลงการณ์ปิดคดีโดยขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยขอถือเอาคำแถลงการณ์ปิดคดีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยนั้น เห็นว่าฎีกาทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยจะขอถือเอาคำแถลงการณ์ปิดคดีในศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยไม่ได้และตามที่จำเลยบรรยายมาในฎีกาของจำเลยไม่เพียงพอที่จะให้เข้าใจได้ว่าจำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุใด ทั้งไม่ได้คัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเมื่อวันที่23 มกราคม 2531 จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 รวม 10 วันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย แต่ที่พิพากษาให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างนับแต่วันที่ 23 มกราคม 2531ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเพียงบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างให้ปรับวันละ 5,000 บาท รวม 10 วัน เป็นเงิน 50,000 บาทลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงให้ปรับ 33,333.1 บาท เมื่อรวมกับโทษปรับฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ปรับ 40,000 บาทลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงให้ปรับ26,666.2 บาท แล้ว เป็นให้ปรับจำเลยรวม 60,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share