แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยจัดการนำส่ง สำเนาฎีกาให้โจทก์ภายในกำหนดแม้จะสั่งหลังจากวันที่จำเลยยื่นฎีกา แต่ในหน้าแรกของฎีกาของจำเลยทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อทราบข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นซึ่งมีข้อความว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 6 พฤษภาคม2534 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยยอมรับผูกพันตนเองว่าจะมาฟังคำสั่งในวันดังกล่าวถ้าไม่มาให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของศาลแล้ว การที่จำเลยเพิกเฉยไม่นำส่งสำเนาฎีกาภายในกำหนดนับแต่วันทราบคำสั่งจึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินที่เช่าคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยที่ 1 รื้อถอนโรงเรือนหรือขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 83,000 บาท แก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 62,000บาท กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องถึงวันที่จำเลยที่ 1 ขนย้ายออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีเจตนาตามสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉลอำพรางบุคคลอื่นขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินตามฟ้องคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยกับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 83,000 บาท แก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด 62,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะขนย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าวเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย นายทรงพลพิมลรัตน์ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2534 ฎีกาของจำเลยทั้งสองหน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 ถ้าไม่มา ให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีลายมือชื่อทนายจำเลยทั้งสองลงไว้ในระหว่างคำว่า “(ลงชื่อ)” และคำว่า “ผู้ร้องหรือผู้อื่น” ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2534 ว่า “จำเลยนำค่าธรรมเนียมศาลมาวางแล้วจึงให้รับฎีกาของจำเลย สำเนาให้โจทก์ ให้จำเลยนำส่งภายใน7 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้” ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน2534 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีมีหนังสือรายงานศาลชั้นต้นว่า พ้นกำหนด15 วันแล้ว จำเลยทั้งสองหรือผู้แทนไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 ว่า “ครบกำหนด 15 วันนับจากวันนี้ ให้นำเสนออีกครั้งหนึ่ง” ต่อมา เมื่อวันที่ 11พฤศจิกายน 2534 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีได้รายงานว่า จำเลยทั้งสองไม่มานำหมาย ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 7 วัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2534 หลังจากวันที่จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาก็ตาม การที่ทนายจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองยอมรับผูกพันตนเองว่าจะมาฟังคำสั่งในวันที่ 6 พฤษภาคม 2534ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งแล้วนอกจากนี้ก็ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวในฎีกาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถึงวันที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองมาทราบคำสั่งฉะนั้นแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้มาฟังคำสั่งก็ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งนั้นโดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2534 ระยะเวลาสิ้นสุดที่จำเลยทั้งสองจะต้องนำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้น คือ วันที่13 พฤษภาคม 2534 แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2534 และ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 ว่า จำเลยทั้งสองเพิกเฉยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาในกำหนดนั้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247″
ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา.