คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคสอง มีความหมายว่า ในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานเป็นวันแรกในคดีนั้นไม่ว่าจะเป็นพยานฝ่ายใดและไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก่อน หากคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนั้นไม่ว่าตนจะมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบในวันนั้นหรือไม่ก็เป็นการขาดนัดพิจารณาปรากฏว่าในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานโจทก์ครั้งแรก จำเลยที่ 1 มาศาลการที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยครั้งต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา คู่ความที่จะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ได้นั้น จะต้องปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งให้เป็นฝ่ายขาดนัดพิจารณาเสียก่อนเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ดังนี้สิทธิที่จะขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจเกิดขึ้นได้.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์กระบะไปจากโจทก์ 1 คัน ราคา 355,680 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ตามงวดที่ตกลงกัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน126,572 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาปลอมสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 12 มีนาคม 2533โจทก์และจำเลยที่ 1 มาศาล จำเลยที่ 2 ไม่มา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา แล้วสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก จึงให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อวันที่ 30 เมษายน 2533 ถึงวันนัดจำเลยที่ 1แถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์จำเลยพร้อมกันวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 ถึงวันนัดโจทก์มาศาล จำเลยทั้งสองไม่มา ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จนเสร็จและสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1แล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 69,800 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาแต่เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยจึงมาศาลในวันนัดครั้งสุดท้ายไม่ได้เนื่องจากก่อนวันนัดจำเลยที่ 1 เดินทางไปทำธุระและค้างคืนที่กรุงเทพมหานครหลายวันและได้ล้มป่วยลงไม่สามารถเดินทางกลับมาให้ทันวันนัดได้ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องเพราะหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา250,000 บาทเท่านั้น และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ค้างชำระหนี้โจทก์เป็นจำนวนมากมายตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีทางชนะคดีอย่างแน่นอนขอศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีศาลสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 มิใช่พิพากษาโดยจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาดังคำร้อง ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสองนั้น มีความหมายว่าในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานเป็นวันแรกในคดีนั้น ไม่ว่าจะเป็นพยานฝ่ายใดและไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก่อนหากคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนั้น ไม่ว่าตนจะมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบในวันนั้นหรือไม่ก็ตามก็เป็นการขาดนัดพิจารณาตามความหมายของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น คดีนี้ปรากฏว่าศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 12 มีนาคม 2533 โจทก์และจำเลยที่ 1มาศาล จำเลยที่ 2 ไม่มาศาล ศาลจึงสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณาส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่งขาดนัดพิจารณา การที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยครั้งต่อไปคือวันที่ 29 พฤษภาคม 2533จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาตามกฎหมาย เมื่อศาลสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ไม่อาจทำการสืบพยานจำเลยที่ 1 ได้ ศาลจึงต้องสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาให้สืบและเห็นว่าคู่ความที่จะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ได้นั้น จะต้องปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งให้เป็นฝ่ายขาดนัดพิจารณาเสียก่อน เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า ศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1ขาดนัดพิจารณาแล้ว สิทธิที่จะขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้…”
พิพากษายืน.

Share