คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คู่ความย่อมต้องผูกพันในผลแห่งคำพิพากษาของศาลซึ่งถึงที่สุดหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนจำเลยจะอ้างเหตุในชั้นขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลยังไม่อนุญาตให้พิจารณาใหม่เพื่อที่จะไม่ผูกพันตามคำพิพากษาหาได้ไม่ การที่จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ย่อมเข้าข้อสันนิษฐานของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8(5) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวโจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ โดยไม่จำต้องมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก่อนตามมาตรา 8(9).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งขณะนี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวคดีอยู่ระหว่างไต่สวน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งขอให้ชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและบังคับจำนอง ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์เป็นเงิน 590,326.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี คิดวิธีธรรมดาไม่ทบต้นของต้นเงิน 589,826.70บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2519 จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยไม่ชำระก็ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 59310 ตำบลสวนหลวง(พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระยังขาดเท่าใดก็ให้จำเลยใช้ให้จนครบ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 6820/2521 เอกสารหมาย จ.1 โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน 106,000 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 6820/2521 หรือไม่ และจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เห็นว่า หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาศาลแพ่ง ซึ่งคดีมิได้มีการอุทธรณ์และฎีกาจึงถึงที่สุดแล้ว ที่จำเลยนำสืบว่าได้ขอให้มีการพิจารณาใหม่ในคดีดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าศาลได้อนุญาตตามคำขอให้พิจารณาใหม่แล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงยังถึงที่สุดอยู่ คู่ความต้องผูกพันในผลของคำพิพากษา จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว ดังนั้น หนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงถือว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว กรณีที่จำเลยอ้างเหตุต่าง ๆ เกี่ยวกับในชั้นขอให้มีการพิจารณาใหม่ ซึ่งศาลยังไม่อนุญาตให้พิจารณาใหม่ ย่อมไม่อาจรับฟังได้ เมื่อโจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินมาชำระหนี้โจทก์ยังไม่ครบถ้วน โดยคำนวณหนี้ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 (วันฟ้อง)ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ทั้งสิ้นจำนวน 1,531,656.85 บาทจำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 50,000 บาท กรณีที่จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ โดยไม่จำต้องมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก่อนตามนัยแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ดังจำเลยฎีกาอีกด้วย เมื่อมีเหตุสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยเพียงแต่นำสืบว่า ขณะนี้จำเลยประกอบอาชีพทนายความและเป็นนายหน้าค้าที่ดิน จำเลยสามารถชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยมีทรัพย์สินอะไรที่พอจะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังทั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษามาเป็นเวลาถึง 10 ปีหากจำเลยมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ ก็ไม่มีเหตุอย่างใดที่โจทก์จะไม่บังคับเอามาชำระเสียให้ครบถ้วน จึงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว…”
พิพากษายืน.

Share