แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของผู้ตาย ถือได้ว่าเป็นการครอบครองไว้แทนทายาท ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกจึงไม่จำต้องเข้าครอบครองทรัพย์มรดก จำเลยจะยกอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคแรก ขึ้นต่อสู้ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกหาได้ไม่ เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกไปทั้งหมดแล้ว แม้โจทก์จะเป็นทายาทในฐานะผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่มารดาซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ตาม แต่เป็นผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมโจทก์จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608 วรรคสอง ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้สั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1727 วรรคแรก และไม่มีอำนาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1713 ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของเจ้ามรดกแทนจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์สำนวนแรกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางคล้าม เพ็งสุข ตามคำสั่งศาลแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดิน2 โฉนดแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 12 ส่วน และให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง ส่วนโจทก์สำนวนหลังฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคล้าม เพ็งสุข และมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนางคล้ามแทนต่อไป
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า นางคล้ามทำพินัยกรรมยกที่ดิน2 แปลงตามฟ้องให้จำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์สำนวนหลังไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคล้าม เพ็งสุข และแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 47705และ 47706 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวแล้วนำเงินแบ่งให้นางสมใจ จอกแก้ว โจทก์ที่ 2 ในสำนวนแรกในอัตรา1 ใน 10 ส่วน ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรก และยกฟ้องโจทก์ในสำนวนหลัง จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะการแบ่งเงินให้แก่นางสมใจ จอกแก้ว โจทก์ที่ 2ให้แบ่งในอัตรา 1 ใน 12 ส่วนตามขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ขณะที่นางคล้าม เพ็งสุข ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 นางคล้ามมีทรัพย์มรดกที่พิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 47705 และ 47706 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร นางคล้ามได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่22 กันยายน 2510 ตามเอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 2 กำหนดการเผื่อตายไว้ว่าให้นำเงินที่ขายที่ดินทั้งหมดแบ่งออกเป็น 10 ส่วน เท่า ๆ กันโดย 5 ส่วน ใช้ทำศพนางคล้าม หากมีเหลือให้สร้างตึกให้แก่วัดลาดพร้าว อีก 5 ส่วน แบ่งให้แก่นางสาวสายหยุด เพ็งสุขบุตรนายแพกับนางเคลิ้ม เพ็งสุข 1 ส่วน ให้เด็กชายชอบ เพ็งสุขบุตรนายถนอมกับนางชุ่ม เพ็งสุข 1 ส่วน ให้เด็กชายวันดีแก้วสกุลณี บุตร นายหน่องกับนางยิ้ม แก้วสกุลณี 1 ส่วนให้เด็กหญิงเสมอ ร้ายใจบุญ 1 ส่วน และให้โจทก์ที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 7583/2528 ของศาลชั้นต้น 1 ส่วน นอกนั้นไม่มีชื่อผู้อื่นได้รับมรดกของนางคล้าม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก (ไม่มีพินัยกรรม) ของนางคล้ามตามเอกสารหมาย ล.4
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไป เห็นว่า เมื่อไม่มีพินัยกรรมของนางคล้ามมาเพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองดังกล่าว จำเลยจึงมิใช่เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของนางคล้าม ทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของนางคล้ามในฐานะผู้จัดการมรดกของนางคล้ามตามคำสั่งศาลและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของนางคล้าม ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทที่มีสิทธิรับมรดกดังกล่าวทายาทที่มีสิทธิรับมรดกจึงไม่จำต้องเข้าครอบครองทรัพย์มรดกจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจะยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคแรก ขึ้นต่อสู้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกดังกล่าว หาได้ไม่ และที่จำเลยฎีกาด้วยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1733 วรรคสองนั้น ปรากฏว่าเป็นข้อที่คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายที่ว่า โจทก์สำนวนหลังมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคล้ามหรือไม่นั้นเมื่อปรากฏว่านางคล้ามเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ 22 กันยายน 2510 จำหน่ายทรัพย์มรดกของตนเสียทั้งหมดแล้วแม้โจทก์สำนวนหลังจะเป็นทายาทโดยธรรมของนางคล้ามโดยอยู่ในฐานะผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่นางยิ้ม แก้วสกุลณี มารดาก็ตามแต่เป็นผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมดังกล่าว โจทก์สำนวนหลังจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608 วรรคสอง มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้สั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคแรกโจทก์สำนวนหลังจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคล้าม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น อนึ่งปัญหาว่าโจทก์สำนวนหลังมีอำนาจฟ้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของนางคล้ามแทนจำเลยตามฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเสียด้วย เห็นว่า เมื่อโจทก์สำนวนหลังมิใช่ผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์มรดกของนางคล้าม โจทก์สำนวนหลังจึงไม่มีอำนาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 8802/2528ของศาลชั้นต้นเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์