คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องได้รับหนังสือแจ้งความทวงหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 จึงมีหน้าที่ยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด 14 วันคือภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2532 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ วันที่ 28 สิงหาคม 2532 พ้นกำหนด 14วัน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 119 จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ข้อปฏิเสธหนี้ของผู้ร้องที่มิได้หยิบยกขึ้นแสดงเหตุปฏิเสธภายในกำหนดเวลา 14 วัน ดังกล่าวศาลไม่วินิจฉัยให้.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2531 ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันกับผู้ร้องสาขาพัทยา เป็นเงิน 236,950 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหนังสือทวงหนี้ตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ให้ผู้ร้องสาขาพัทยาคืนเงินดังกล่าวแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หากจะปฏิเสธหนี้ให้ปฏิเสธเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงหนี้ ผู้ร้องสาขาพัทยาได้รับหนังสือทวงหนี้วันที่ 31 กรกฎาคม2532 และได้ส่งหนังสือทวงหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ทนายความของผู้ร้องที่ฝ่ายกฎหมายสำนักงานใหญ่ดำเนินการ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอปฏิเสธหนี้เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยกคำร้องดังกล่าว โดยอ้างว่าปฏิเสธหนี้เกินกำหนดเวลาแล้ว ถือว่าเป็นหนี้เด็ดขาดแต่ผู้ร้องเห็นว่าหนี้ดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่ศาลน่าจะรับไว้พิจารณา กล่าวคือ การฝากเงินของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการนำเงินผ่านบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นหรือให้ผู้ร้องจ่ายเงินตามเช็คเท่านั้น ผู้ร้องมิได้รับเงินไว้แต่อย่างใดผู้ร้องจึงไม่มีหนี้ที่จะส่งเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และอนุญาตให้ผู้ร้องปฏิเสธหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงเลยเวลาตามกฎหมาย ถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นการเด็ดขาดตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทวงไป นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากและเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไป ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำได้ผู้ร้องจึงยังคงเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อยู่ตามจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าฝาก ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่7 ตุลาคม 2531 ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1เด็ดขาดแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งมีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอยู่กับผู้ร้องสาขาพัทยานำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวมเป็นเงิน 236,950 บาทซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย จึงมีหนังสือทวงหนี้ให้ผู้ร้องสาขาพัทยาชำระเงินจำนวนดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลา 14 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ หากผู้ร้องจะปฏิเสธก็ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวมิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งมานี้เป็นการเด็ดขาด ผู้ร้องสาขาพัทยาได้รับหนังสือทวงหนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 และปฏิเสธหนี้ในวันที่ 28 สิงหาคม2532 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลในคดีนี้ได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องจะปฏิเสธหนี้รายนี้ได้หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลที่ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 14 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด คดีนี้ปรากฏว่าผู้ร้องได้รับแจ้งความเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 ครบกำหนดเวลา 14 วัน ในวันที่ 14 สิงหาคม 2532 แต่ผู้ร้องมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเพิ่งยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้เมื่อวันที่28 สิงหาคม 2532 จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ผู้ร้องฎีกาว่า เงินจำนวน 236,950 บาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปนั้น มิใช่เงินที่จะตกได้แก่จำเลยที่ 1หรือมีสิทธิที่จะได้รับจากบุคคลอื่นหรือมีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งชำระแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ผู้ร้องอยู่จำนวน 48,333.15 บาท ฉะนั้น การที่ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วันหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของคดีการทวงหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 22 และ 119 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483นั้น เห็นว่า ข้ออ้างตามฎีกาของผู้ร้องล้วนแต่เป็นประเด็นที่ผู้ร้องจะต้องหยิบยกขึ้นแสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความทั้งสิ้น เมื่อผู้ร้องมิได้หยิบยกขึ้นแสดงเหตุปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจหยิบยกข้ออ้างเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยในชั้นนี้ได้ เพราะถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตามบทกฎหมายข้างต้นแล้วการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงหนี้ผู้ร้องหาขัดต่อมาตรา 22 และ 119 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แต่อย่างใดไม่…”
พิพากษายืน.

Share