คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า พ. มารดาโจทก์ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมยกบ้านให้โจทก์หนังสือสัญญาให้เรือนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับเป็นการปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นสินสมรสของ ก.กับ พ.บิดามารดาโจทก์ย. ภริยาจำเลยซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งของ ก. กับ พ. มีสิทธิรับมรดกของ ก. อยู่ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางพยอม ทองแสง มารดาโจทก์ได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 848/1 ถนนพระรามที่ 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิตกรุงเทพมหานครให้โจทก์ จำเลยเป็นพี่เขยของโจทก์ และอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวในฐานะผู้อาศัยโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยอยู่อาศัยในบ้านของโจทก์อีกต่อไป ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านของโจทก์ และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับบ้านโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยและภริยาซึ่งเป็นพี่สาวโจทก์มีส่วนร่วมในการสร้างบ้านเลขที่ 848/1 ในปี 2501 นายกมลบิดาโจทก์ได้ซื้อสิทธิการเช่าที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจากนายถนอมสุขสวัสดิ์ ในราคา 5,000 บาท จำเลยได้ร่วมออกเงินซื้อด้วยเป็นเงิน 500 บาท จำเลยได้ทำการซ่อมแซมและปลูกสร้างห้องน้ำกับซ่อมแซมหลังคา ต่อมาปี 2514 จำเลยกับบิดาโจทก์ได้ร่วมกันลงทุนต่อเติมบ้านดังกล่าวใหม่เป็นบ้านไม้สองชั้นกั้นห้องและเปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง หมดค่าใช้จ่ายประมาณ 60,000 บาท จำเลยได้ร่วมลงทุนด้วยเป็นเงิน 25,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้ต่อเติมเองเมื่อต่อเติมแล้วโจทก์จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ จำเลยเป็นผู้ลงทุนกั้นห้องให้แก่โจทก์ หนังสือยกเรือนให้นั้นไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาโจทก์ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมยกเรือนให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นสินสมรสของนายกมลกับนางพยอมบิดามารดาโจทก์นางยุพดีภริยาจำเลยซึ่งเป็นบุตรจึงมีสิทธิรับมรดกในส่วนของนายกมลอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่านางพยอมมารดาโจทก์ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมยกบ้านพิพาทให้โจทก์ หนังสือสัญญาให้เรือนไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยไม่ได้กล่าวแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า การที่มารดาโจทก์ยกบ้านพิพาทให้โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นการปฏิเสธว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทนี้ โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อน และข้อเท็จจริงก็ได้ความเป็นยุติว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายกมลกับนางพยอมบิดามารดาโจทก์ และนางยุพดีภริยาของจำเลย เมื่อนายกมลถึงแก่ความตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทในส่วนของตนให้แก่ทายาทคนใด ดังนี้กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทส่วนของนายกมลจึงเป็นมรดกตกทอดแก่บรรดาทายาทของนายกมลรวมทั้งนางยุพดีมีสิทธิได้รับมรดกส่วนหนึ่งด้วย การที่นางพยอมทำนิติกรรมจดทะเบียนยกบ้านพิพาทให้แก่โจทก์จึงมีผลให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของนางพยอมเท่านั้น ไม่คลุมไปถึงส่วนที่เป็นมรดกของนายกมลด้วย ปรากฏว่านางยุพดีอยู่อาศัยในบ้านพิพาทมาตลอดเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันตามกฎหมาย ถือว่านางยุพดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในบ้านพิพาทตามส่วนของตนคนหนึ่งจำเลยเป็นสามีของนางยุพดีได้อาศัยสิทธิของนางยุพดีอยู่อาศัยในบ้านพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างบิดามารดาโจทก์เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคำฟ้องและคำให้การนั่นเอง หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่…”
พิพากษายืน.

Share