คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ซึ่งกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกแม้จะมิได้อ้างในคำฟ้องว่าเงินที่ผู้เสียหายมอบให้แก่จำเลยเป็นเงินมัดจำซื้อบ้านจำนวนเท่าใด ต่อเติมบ้านจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ก็ถือเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ หากจำเลยเห็นว่าเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างที่ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยต่อเติมบ้านให้ผู้เสียหาย จึงเป็นเงินของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็เป็นข้อต่อสู้ของจำเลยซึ่งสามารถนำสืบหักล้างได้ในชั้นพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 ผู้เสียหายมอบเงินจำนวน 20,000 บาท ให้จำเลยไปวางมัดจำซื้อบ้านแทนผู้เสียหายต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2531 ผู้เสียหายมอบเงินอีกจำนวน40,000 บาท ให้จำเลยนำไปวางเป็นค่ามัดจำและต่อเติมบ้านดังกล่าวแทนผู้เสียหาย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 เวลากลางวัน ถึง 28กุมภาพันธ์ 2531 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวน 58,000 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งที่รับไว้จากผู้เสียหายไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต โดยจำเลยคงนำเงินเพียง 2,000 บาท ไปวางเป็นมัดจำซื้อบ้านให้ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 58,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 58,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องของโจทก์แม้จะมิได้อ้างในคำฟ้องว่าเงินที่ผู้เสียหายมอบให้แก่จำเลยเป็นเงินมัดจำซื้อบ้านจำนวนเท่าใด ต่อเติมบ้านจำนวนเท่าใด ตามที่จำเลยฎีกาก็ตามฟ้องโจทก์ดังกล่าวก็เป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด มีข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ หากจำเลยเห็นว่าเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างที่ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยต่อเติมบ้านให้ผู้เสียหาย จึงเป็นเงินของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ก็เป็นข้อต่อสู้ของจำเลยซึ่งจำเลยสามารถจะนำสืบหักล้างได้ในชั้นพิจารณา
พิพากษายืน

Share