คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) โจทก์มอบเงินให้จำเลยเพื่อนำไปมอบให้พนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งช่วยเหลือให้โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินสินบน ถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยไปกระทำความผิดแม้จำเลยรับเงินไปแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบริษัทโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นบิดาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้ขออนุมัติสั่งจ่ายเงินค่านายหน้าจำนวน 240,000 บาท เพื่อจ่ายให้แก่ผู้ติดต่อให้โจทก์ได้ตกลงขายสินค้าให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ โจทก์หลงเชื่อ จึงอนุมัติสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเช็คโดยจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินค่านายหน้าดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ได้เบิกเงินตามเช็คที่รับไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขาราชดำเนินกลาง ต่อมาโจทก์ได้ตรวจพบว่าในการขายสินค้าให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ไม่มีการจ่ายค่านายหน้า การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในทางปฏิบัติโจทก์จะอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่าเงินค่านายหน้าหรือสินบนแก่ผู้ที่สามารถวิ่งเต้นติดต่อหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขายสินค้าให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จะต้องเสียค่านายหน้าเป็นเงิน240,000 บาท ซึ่งโจทก์โดยนายสุรพงษ์ บุญคล้าย เป็นผู้อนุมัติจำเลยที่ 2 จึงลงชื่อรับเงินจำนวนดังกล่าวไปเพื่อช่วยเหลือกิจการของโจทก์ โจทก์เป็นผู้เห็นชอบและอนุมัติให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่านายหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 240,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 240,000 บาทนับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 24,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาเฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ และเป็นผู้จัดการแผนกเครื่องจักรกลด้วย โจทก์ได้ขายอะไหล่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย 195 รายการ ในการนี้จำเลยที่ 1ได้ขออนุมัติจ่ายเงินค่านายหน้า 240,000 บาท โจทก์อนุมัติ และได้จ่ายเงินเป็นเช็คโดยการหักภาษีไว้ด้วย จำเลยที่ 2 รับเช็คไปแล้วนำไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินไปแล้วโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานละเมิดอ้างว่าการขายอะไหล่รายนี้ไม่มีการจ่ายค่านายหน้า แต่โจทก์หลงเชื่อว่ามีจึงจ่ายเงินไป ขอเรียกเงินคืน จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า (1) จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และ (2) ฟ้องขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ตามประเด็นที่พิพาท ศาลอุทธรณ์ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นมาวินิจฉัยเอง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น แล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
ในเบื้องแรกนี้ จึงต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องเสียก่อน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)
สำหรับในปัญหาที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น มีข้อที่จะต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตกลงให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย อันเป็นการร่วมกระทำความผิด จึงไม่เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ข้อนี้ปรากฏข้อเท็จจริงในมูลคดีเดียวกันนี้ว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง ศาลฎีกาได้พิพากษาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3842/2530ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในการขายสินค้าบริษัทโจทก์โดยผู้มีอำนาจทำการแทนได้ตกลงยินยอมให้กำหนดจำนวนเงินที่จะให้เป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ที่ช่วยให้ขายสินค้าได้ ตามพฤติการณ์เงินค่าตอบแทนหรือเงินค่านายหน้าจำนวน 240,000 บาท ก็คือเงินที่จะมอบให้ผู้ช่วยเหลือให้ได้มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และผู้ที่จะช่วยเหลือให้ได้ทำสัญญาก็ต้องเป็นพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั่นเองเงินที่รับว่าจะให้นี้จึงเป็นเงินสินบน เมื่อการซื้อขายเสร็จบริบูรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือขออนุมัติจ่ายค่านายหน้าบริษัทโจทก์โดยนายสุรพงษ์ บุญคล้าย ผู้ทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อนุมัติให้จ่ายเงินจำนวน 240,000 บาท ได้ อันเป็นการแสดงถึงเจตนาของบริษัทโจทก์ที่จะให้จำเลยที่ 1 นำเงิน 240,000 บาทไปมอบให้แก่ผู้ช่วยเหลือให้ได้ทำสัญญาซื้อขาย การกระทำของบริษัทโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่า บริษัทโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1ไปกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 บริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องร้องได้ ฉะนั้นคดีนี้ซึ่งโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 3842/2530 ของศาลฎีกาและมูลคดีเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในการพิพากษาคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวข้างต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 จึงต้องฟังว่า บริษัทโจทก์เจตนาให้จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 240,000 บาท ไปมอบให้แก่ผู้ช่วยเหลือให้บริษัทโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ถือได้ว่าบริษัทโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำผิด บริษัทโจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share