คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาที่ประกอบด้วยสัญญาเช่าและคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สิน เมื่อรถยนต์พิพาทซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสูญหายไป ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อไม่ได้รับประโยชน์ในรถยนต์พิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่อาจจะขายหรือให้รถยนต์พิพาทตกเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามคำมั่น สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันระงับไป โจทก์คงมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ส่งไว้แล้ว และกลับเข้าครองครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ แต่ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบเป็นข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่รถยนต์ที่เช่าซื้อได้หายไปในระหว่างการครอบครองของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถกลับเข้าครอบครองได้ และถือว่าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับโดยเอาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาเป็นจำนวนค่าเสียหาย ศาลย่อมกำหนดให้โจทก์ได้ตามควรแก่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ในราคา386,772 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 90,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 42 งวด ชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 เมษายน 2532 จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2529จำเลยที่ 1 แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2530 เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อมีประกันภัย ซึ่งจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 200,000บาท โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จึงนำเงินค่าประกันภัยดังกล่าวไปหักจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแล้วยังขาดอยู่ 75,574 บาทขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาที่แท้จริงเพียง 200,000 บาท เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย โจทก์ก็ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท แล้ว รวมกับที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินวันทำสัญญา 90,000 บาท ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดเป็นเงิน 21,198 บาท และจ่ายเบี้ยประกันภัยอีก 9,000 บาท นอกจากนี้เป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์รับไปแล้ว 200,000 บาท หากคิดค่าป่วยการเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในเวลาก่อนสัญญาเช่าซื้อถึงกำหนดไม่น้อยกว่า 36 เดือน ก็เป็นเงิน 88,000 บาทซึ่งเมื่อรวมเงินที่โจทก์ได้รับแล้วเป็นเงินถึง 404,198 บาท เงินที่โจทก์รับไปแล้วยังคิดเป็นค่าเช่าซื้อที่ต้องส่งเป็นเวลานานจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคา 200,000 บาทเท่านั้น ในการทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ชำระเงินวันทำสัญญา 90,000บาท ชำระเบี้ยประกันภัย 9,000 บาท และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว21,198 บาท รวมเป็นเงิน 120,198 บาท เมื่อรวมกับเงินที่บริษัทประกันภัยชดใช้ให้อีก 200,000 บาท จึงเป็นเงินที่โจทก์รับไปแล้วจำนวน 320,198 บาท ซึ่งหากหักกับราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องผ่อนชำระจำนวน 386,700 บาท แล้วคงเหลือ 66,502 บาท เมื่อเทียบจากราคาเงินสดที่โจทก์เสนอขายรถยนต์ที่เช่าซื้อในราคา 295,000 บาทแล้วย่อมเป็นการเพียงพอกับผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับ นอกจากนี้เงินค่าประกันภัยที่โจทก์ได้รับจำนวน 200,000 บาท เมื่อคิดเป็นค่าป่วยการเทียบกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถึงวันสิ้นสุดสัญญาเช่าซื้อเป็นเงินไม่น้อยกว่า 80,000 บาท เงินจำนวนนี้เมื่อเทียบกับเงินที่จำเลยยอมชำระค่าเช่าซื้อถึงวันฟ้องแล้ว จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 75,574 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยไม่มีฝ่ายใดโต้เถียงกันว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ราคา 386,772 บาท ชำระเงินค่าเช่าซื้อวันทำสัญญา 90,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 42 งวด งวดละ 7,066บาท ชำระแต่ละงวดภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ชำระงวดแรกวันที่15 พฤศจิกายน 2528 โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ก่อนทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยสากลจำกัด เป็นเงิน 200,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย ล.1 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 3 งวด คืองวดที่ 1 ที่ 2ชำระให้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2528 เป็นเงิน 14,132 บาท และงวดที่ 3ชำระให้ในวันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นเงิน 7,066 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 จ.2 ต่อมาวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2529 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป บริษัทประกันภัยสากล จำกัดผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน200,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2529 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายล.3 รวมเงินที่โจทก์ได้รับไปแล้วทั้งสิ้น 311,198 บาท โจทก์เห็นว่า จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ขาดอีกจำนวน 75,574 บาท ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์ได้รับผลประโยชน์ไปเพียงพอแล้วคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2จะต้องร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ขาดหายจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572 บัญญัติว่า “…สัญญาเช่าซื้อคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าจะได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว” สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาที่ประกอบด้วยสัญญาเช่าและคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า รถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์ถูกคนร้ายลักไป เมื่อรถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสูญหายไป ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อไม่ได้รับประโยชน์ในรถยนต์พิพาทที่เช่าซื้อและในทำนองเดียวกัน โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่อาจจะขายหรือให้รถยนต์พิพาทตกเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามคำมั่นหากจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว กรณีเช่นนี้สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันระงับไป เมื่อสัญญาเช่าซื้อระงับไปแล้วโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อคงมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ส่งไว้แล้ว และชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ โจทก์หามีสิทธิที่จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ได้ไม่ แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันในสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ” ข้อสัญญาดังกล่าวจึงแปลได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่รถยนต์พิพาทได้หายไปในระหว่างการครอบครองของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถกลับเข้าครอบครองได้ และถือว่าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับโดยเอาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาเป็นจำนวนค่าเสียหาย ดังนั้น ศาลย่อมกำหนดให้โจทก์ได้ตามควรแก่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริษัทประกันภัยสากลจำกัด ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 200,000 บาทเมื่อรวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 111,198 บาท จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับไปทั้งสิ้น 311,198บาท เงินจำนวนดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นจำนวนเพียงพอกับความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้รถยนต์พิพาทคืนแล้ว ศาลฎีกาไม่กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายจากจำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยอีกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วย”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share