คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 4 การที่ บ. ผู้เช่าซื้อไปแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวนและขอรับรถยนต์พิพาทซึ่งใช้เป็นยานพาหนะกระทำผิดในการบรรทุกแร่ผิดกฎหมายโดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองขณะจับกุมคืน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รู้ตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทอันจะเป็นเหตุให้กรมทรัพยากรธรณีจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจที่จะประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาท เมื่อการประกาศที่จำเลยที่ 2 กระทำไปชอบด้วยกฎหมายโจทก์ผู้เป็นเจ้าของและ บ. ผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทไม่แสดงตัวเพื่อขอรับคืนภายในกำหนดเวลาตามประกาศรถยนต์พิพาท จึงตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 15 เบญจ วรรคสามโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์พิพาทคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขทะเบียน 80-1533 ภูเก็ต ได้ให้นายบุ่นเอี้ยนศรีแสนสุชาติเช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยที่ 1เป็นทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2528 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้จับกุมและยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้เป็นของกลางในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และได้มอบให้จำเลยทั้งสองเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ตเมื่อต้นเดือนมกราคม 2529 นายบุ่นเอี้ยนไปแสดงตัวและให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนว่านายบุ่นเอี้ยนเช่าซื้อรถยนต์ไปจากบริษัทแสงรุ่งภูเก็ต จำกัด ตัวแทนของโจทก์และได้ให้นายสุชาติ วรพงศ์เขต เช่าไปบรรทุกสินค้า แต่นายสุชาตินำไปบรรทุกแร่ดีบุกโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด โจทก์มอบอำนาจให้นายเกรียงศักดิ์ เทพบุตรไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนและขอรถยนต์คืนเมื่อกลางเดือนมกราคม 2529 และโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความกับบริษัทแสงรุ่งภูเก็ต จำกัด ไปขอรับรถยนต์คืนจากจำเลยทั้งสองเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2529 แต่จำเลยทั้งสองไม่คืนให้ โดยอ้างว่ารถยนต์ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว เพราะโจทก์ไม่ได้ไปแสดงตัวเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 ประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ได้ไปแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวนและขอรับรถยนต์คืนแล้ว ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ ขอให้ยกเลิกประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองของกลางที่ต้องสงสัยในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์2529 ข้อ 2 ให้เพิกถอนการตกเป็นของแผ่นดินของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-1533 ภูเก็ต ยี่ห้อฮีโน่สีขาวเทา และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2528เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์พิพาทซึ่งใช้เป็นยานพาหนะกระทำความผิดบรรทุกแร่ดีบุกจำนวน 12 กระสอบ หนัก 4,800 กิโลกรัมอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองขณะจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจจึงส่งรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทรัพยากรธรณีท้องที่เพื่อเก็บรักษาไว้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกประกาศในหนังสือพิมพ์มติชน และปิดประกาศที่สำนักงานทรัพยากรธรณีประจำจังหวัดภูเก็ต ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ไปแสดงตัวแต่ไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทภายในกำหนด 30 วัน รถยนต์พิพาทจึงตกเป็นของแผ่นดิน ที่โจทก์และนายบุ่นเอี้ยนแสดงตัวขอคืนรถยนต์พิพาทกับพนักงานสอบสวนไม่ใช่เป็นกรณีแสดงตัวต่อบุคคลและสถานที่ที่อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีได้ระบุไว้ในประกาศตามมาตรา 15 เบญจแห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 6 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์พิพาทคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยเป็นเงิน 600 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2528 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ยึดรถยนต์พิพาทซึ่งใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกแร่ดีบุก จำนวน 12 กระสอบหนัก 4,800 กิโลกรัมอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองขณะจับกุม เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2529นายบุ่นเอี้ยน ศรีแสนสุชาติ ผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ได้ไปแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตว่ารถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์และขอรับคืน ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ประกาศลงในหนังสือพิมพ์มติชนลงวันที่ 3 และ 4 มีนาคม 2529 และปิดประกาศไว้ที่สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต ให้เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทไปแสดงตัวต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต ณสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต ภายใน 30 วันนับแต่วันแรกที่ประกาศหนังสือพิมพ์เพื่อขอรับรถยนต์พิพาทคืน ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ดำเนินการเพื่อขอรับรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้ประกาศไว้นั้น
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนมีฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เมื่อนายบุ่นเอี้ยน ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทได้ไปแสดงตัวและขอรับรถยนต์พิพาทคืนต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ก่อนจะมีประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาท จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2จะประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาท ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 15 เบญจ ได้อีกต่อไป การประกาศที่จำเลยที่ 2 กระทำไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย รถยนต์พิพาทไม่ตกเป็นของแผ่นดิน จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนแก่โจทก์นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4 บัญญัติว่าในพระราชบัญญัตินี้ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่และเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนจึงมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 การแสดงตัวและขอรับรถยนต์พิพาทคืนของนายบุ่นเอี้ยนต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รู้ตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทอันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจที่จะประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อการประกาศหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 2กระทำไปชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้เป็นเจ้าของและนายบุ่นเอี้ยนผู้ครอบครองรถยนต์พิพาทไม่แสดงตัวเพื่อขอรับคืนภายในกำหนดเวลาตามประกาศ รถยนต์พิพาทก็ต้องตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 15 เบญจ วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 6 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนจำเลยทั้งสอง

Share