คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ธ. มีอำนาจเต็มในการขายรถยนต์ให้เช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ อำนาจเช่นนี้ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจในการลดราคาขายหรือราคาเช่าซื้อหรือลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วย การที่ ธ. ลดค่าเช่าซื้อที่ค้างให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจากโจทก์ แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุว่าการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก็ตาม แต่ข้อสัญญาใดที่คู่กรณีได้ทำขึ้น คู่กรณีสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขและตกลงทำข้อสัญญาใหม่ได้ เมื่อข้อสัญญาที่ทำขึ้นใหม่นั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนการที่ ธ. ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ค้างชำระแล้วเท่ากับคู่กรณีได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อให้แก่กันโดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อสัญญาเดิมที่ให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วใช้ข้อสัญญาใหม่ดังกล่าวข้อสัญญาใหม่นี้มีผลผูกพันคู่กรณีเพราะเป็นข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าค่าเสียหายที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใด คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ศาลจึงต้องกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร ค่าเช่าซื้อรถยนต์แต่ละงวดเป็นเงินค่ารถยนต์ที่ซื้อและค่าเช่ารวมอยู่ด้วย เงินค่าเช่าถือเป็นค่าเสียหายที่ฝ่ายใช้รถยนต์จะต้องชำระให้แก่เจ้าของรถยนต์เมื่อไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เงินค่าเช่ามีจำนวนเท่าไรศาลย่อมกำหนดค่าเช่าหรือค่าเสียหายนี้ได้ตามที่เห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เป็นเงิน 724,000 บาท ตกลงชำระเงินวันที่ 4 กรกฎาคม 2524เป็นเงิน 5,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 719,000 บาท ชำระเป็นรายเดือนทุกวันที่ 12 ของทุก ๆ เดือน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดโจทก์มีสิทธิยึดรถคืน โดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในการยึดรถคืนและเสียเบี้ยปรับให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จากต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ไป จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหลายครั้งจนกระทั่งกำหนดเวลาในสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง โจทก์ได้ยึดรถยนต์คืนเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2527จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเป็นเงิน270,190 บาท เบี้ยปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จากค่าเช่าซื้อที่ค้างคิดถึงวันยึดรถคืนเป็นเงิน 84,939 บาท และค่าใช้จ่ายในการยึดรถคืน 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 355,129 บาท แก่โจทก์ กับค่าเสียหายนับแต่วันยึดรถคืนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 4,439.11 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 359,568.11 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 359,568.11 บาท และร่วมกันชำระค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 355,129 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์จริง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันนับแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์โอนชื่อทางทะเบียนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์เพิกเฉย ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2527โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายมิได้ใช้รถยนต์เพื่อหารายได้ทำให้จำเลยที่ 1 ขาดรายได้วันละ 3,000 บาท นับแต่วันถูกยึดรถจนถึงวันฟ้องเป็นค่าเสียหายจำนวน 267,000 บาท ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 และชำระค่าเสียหายวันละ 3,000 บาทนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะส่งมอบรถยนต์แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนและจำเลยที่ 1 ไม่เคยแจ้งให้โจทก์โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ยึดรถยนต์คืนโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายเนื่องจากขาดรายได้หากมีก็ไม่เกินวันละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 300,000 บาท นับแต่วันที่ไม่อาจส่งคืนได้ และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2527เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์แก่จำเลยที่ 1 หรือจนกว่าถึงเวลาที่โจทก์ต้องชดใช้ราคาแก่จำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือมอบอำนาจ นายธนิตมีอำนาจเต็มในการขายรถยนต์ให้เช่าซื้อรถยนต์ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ อำนาจเช่นนี้ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจในการลดราคาขายหรือราคาเช่าซื้อหรือลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วย ดังนั้น การที่นายธนิตลดค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ทั้งหมดลงคงเหลือ 270,000 บาทให้จำเลยที่ 1 นั้น จึงเป็นการกระทำตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจากโจทก์ เมื่อนายธนิตลดค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ได้ชำระให้โจทก์เสร็จเรียบร้อย โจทก์หามีสิทธิยึดรถยนต์คันพิพาทและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ไม่ เพราะจำเลยที่ 1ไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่นายธนิตกับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขค่าเช่าซื้อที่ค้างไม่ผูกพันโจทก์เพราะการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ทำเป็นหนังสือตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อนั้น เห็นว่า ข้อสัญญาใด ๆ ที่คู่กรณีได้ทำขึ้นคู่กรณีสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขและตกลงทำข้อสัญญาใหม่ได้เมื่อข้อสัญญาที่ทำขึ้นใหม่นั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สำหรับคดีนี้ นายธนิตผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ค้างชำระแล้วเท่ากับคู่กรณีได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อให้แก่กันโดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อสัญญาเดิมที่ให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วใช้ข้อสัญญาใหม่ดังกล่าวมานั่นเอง ข้อสัญญาใหม่นี้มีผลผูกพันคู่กรณีเพราะเป็นข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 เดือนละ8,000 บาท สูงเกินไป หากเสียจริงก็ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาทและที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 น้อยเกินไป จำเลยที่ 1 ควรที่จะได้รับค่าเสียหายเดือนละ 21,500 บาท ซึ่งเท่ากับค่าเช่าซื้อที่จะต้องชำระในแต่ละงวดนั้น เห็นว่า ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าค่าเสียหายที่แท้จริงนั้นมีจำนวนเท่าใด คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนให้เห็นค่าเสียหายที่แท้จริง ศาลจึงต้องกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร คดีนี้ค่าเช่าซื้อที่จะต้องชำระในแต่ละงวดเป็นเงิน 21,500 บาท เงินจำนวนนี้เป็นเงินค่ารถยนต์ที่เช่าซื้อและค่าเช่ารวมอยู่ด้วย เงินค่าเช่านี้ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ฝ่ายที่ใช้รถยนต์จะต้องชำระให้แก่เจ้าของรถยนต์ เมื่อไม่ปรากฎแน่ชัดว่า เงินค่าเช่ามีจำนวนเท่าไร ศาลย่อมกำหนดค่าเช่าหรือค่าเสียหายนี้ได้ตามที่เห็นสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินเดือนละ 8,000 บาทนั้นเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่สมควรและเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
พิพากษายืน

Share