คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำเบิกความของโจทก์และ ส. หลานเจ้ามรดกประกอบกับ หลักฐานการป่วยของเจ้ามรดกที่โรงพยาบาล ฟังได้ว่าเจ้ามรดกมีสติ เลอะเลือนก่อนถึงแก่กรรม ส่วนข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 มีพิรุธและ ไม่น่าเชื่อถือกล่าวคือ เจ้ามรดกมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว แต่ใน พินัยกรรมระบุอายุเพียง 71 ปี ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำลายพิมพ์ นิ้วมือของเจ้ามรดกในพินัยกรรมได้ แต่ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มี ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องนี้อย่างไร ที่จำเลยที่ 1อ้างว่าไม่ทราบว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้แต่บุตรกลับเบิกความว่า อยู่ในขณะทำ พินัยกรรมด้วย นอกจากนี้ผู้จัดทำพินัยกรรมก็เป็นทนายจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และจำเลยก็ไม่นำพยานในพินัยกรรม มาเป็นพยานต่อศาลด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าเจ้ามรดกซึ่งมีอายุกว่า 80 ปี มีอาการไม่ค่อยรู้เรื่องจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินจำนวนมาก ถึง 10รายการให้บุคคลอื่น คดีจึงฟังได้ว่าในขณะทำพินัยกรรม เจ้ามรดกไม่มีสติสัมปชัญญะและไม่ทราบข้อความในพินัยกรรม พินัยกรรม จึงไม่มีผลบังคับ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรเพียงผู้เดียวของนางพา จันชาลี เจ้ามรดก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2529 เจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรม ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2529 โจทก์ทราบจากจำเลยทั้งสามว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2528และได้มีการเปิดพินัยกรรมออกอ่านในวันที่ 23 กรกฎาคม 2529รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายพินัยกรรมท้ายฟ้อง โจทก์เห็นว่าพินัยกรรมดังกล่าวปลอม เนื่องจากเจ้ามรดกไม่มีเจตนาที่จะทำพินัยกรรมฉบับนี้แต่เกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลถึงขนาดของบุคคลภายนอกร่วมกับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม ทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมแต่เพียงผู้เดียวต้องรับข้อกำหนดตามพินัยกรรมอันหนักยิ่งกว่าที่โจทก์จะพึงรับเอาได้ตามปกติ โดยจำเลยทั้งสามและบุคคลภายนอกร่วมกันทำพินัยกรรมขึ้นในขณะที่เจ้ามรดกไม่มีความสามารถใด ๆ เพราะขณะนั้นป่วยหนัก ไม่มีสติสัมปชัญญะ แล้วจับมือให้กดลายพิมพ์หัวแม่มือลงในพินัยกรรมที่ได้เตรียมไว้แล้ว ซึ่งเจ้ามรดกอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมปลอมจำเลยที่ 1 เป็นเพียงน้องชายของเจ้ามรดก ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่บุตรของเจ้ามรดก โจทก์ไม่เห็นชอบด้วยกับพินัยกรรมฉบับนี้ จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าวเสีย แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้พิพากษาเพิกถอนหรือทำลายพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 5 เมษายน 2528
จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรวมใจความว่าพินัยกรรมตามฟ้องเจ้ามรดกทำขึ้นด้วยความสมัครใจและมีเจตนาจะให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมตกทอดแก่ทายาทตามพินัยกรรม ก่อนทำพินัยกรรมเจ้ามรดกมิได้ป่วยโดยในวันที่ 4 เมษายน 2528 อันเป็นวันก่อนทำพินัยกรรมเพียงวันเดียว เจ้ามรดกมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์และได้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการทำนิติกรรมซื้อขายและจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่43249 ตำบลในเมือง (ศิลา) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นให้แก่นายมนตรี สาระบูรณ์ จนเสร็จเรียบร้อย ในวันที่ 5 เมษายน2528 ขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะรู้ผิดชอบดีทุกประการพินัยกรรมทำขึ้นตามความประสงค์ของเจ้ามรดก และเจ้ามรดกได้ประทับลายพิมพ์นิ้วมือลงไปด้วยความสมัครใจ หลังจากทำพินัยกรรมแล้วเจ้ามรดกก็ยังคงมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงมีสติสัมปชัญญะ พินัยกรรมตามฟ้องสมบูรณ์มิใช่พินัยกรรมปลอมจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดก ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นน้องของเจ้ามรดก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2529 เจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมลงคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า พินัยกรรมเอกสารหมายจ.10 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่าก่อนถึงแก่กรรมประมาณ 1 ปี เจ้ามรดกอยู่ที่บ้านของโจทก์มากกว่าอยู่กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในเดือนเมษายน 2528 จำเลยที่ 3 ได้มารับเจ้ามรดกไปอยู่ด้วยอ้างว่าเพื่อให้เป็นเพื่อนเพราะสามีจำเลยที่ 3 ไปต่างประเทศ ระหว่างนั้น เจ้ามรดกมีอาการหลง ๆ ลืม ๆนางสมพร ศรีวรกุล หลานเจ้ามรดกเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าระหว่าง พ.ศ. 2527 จนถึงเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม เจ้ามรดกมีอาการป่วยและความจำไม่ดี สติเลอะ ๆ เลือน ๆ อาการเช่นนี้เป็น ๆหาย ๆ ซึ่งเรื่องนี้นายแพทย์ชาตรี สุเมธวานิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.22 ว่า แพทย์ได้ตรวจร่างกายของเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2527 ที่โรงพยาบาลขอนแก่นและลงอาการป่วยของเจ้ามรดกเป็นภาษาอังกฤษว่าคอนเซียส เชนจ์ เซมิโคม่า ซึ่งหมายความว่าคนไข้มีสติและความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง คือคนไข้จะรู้สึกตัวเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้นบางครั้งก็จำญาติไม่ได้ และปรากฏจากบัตรตรวจโรคของโรงพยาบาลขอนแก่นเกี่ยวกับอาการเจ้ามรดก ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2529ตามเอกสารหมาย จ.23 อันเป็นเวลาก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเพียงเดือนเศษก็มีข้อความว่าเจ้ามรดกมีอาการไม่ค่อยรู้เรื่อง เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารซึ่งทำขึ้นโดยนายแพทย์โรงพยาบาล นายแพทย์ชาตรีพยานโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด คำเบิกความจึงมีน้ำหนักเมื่อนำคำเบิกความของนายแพทย์ชาตรีตลอดจนเอกสารหมาย จ.22และ จ.23 ดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์และนางสมพรหลานเจ้ามรดกแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเจ้ามรดกมีสติเลอะ ๆ เลือน ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ในระหว่างกลางเดือนสิงหาคม2527 จนเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม อนึ่ง สำหรับอายุของเจ้ามรดกขณะทำพินัยกรรมนั้น ตามพินัยกรรมระบุว่าขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกมีอายุ 71 ปี แต่ตามเอกสารหมาย จ.14 คือหนังสือแบ่งขายที่ดินทำขึ้นที่สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2522 ระบุอายุเจ้ามรดกไว้ 78 ปี ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ซึ่งเบิกความในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2530 ว่าอายุของเจ้ามรดกมากกว่าอายุของจำเลยที่ 3 ประมาณ 50 ปี โดยขณะเบิกความจำเลยที่ 3 มีอายุ 33 ปี เมื่อคำนวณถึงวันที่ปรากฏในพินัยกรรมคือวันที่ 5 เมษายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.10 และ ล.15 แล้วเจ้ามรดกมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว เมื่อในพินัยกรรมระบุอายุเพียง71 ปี ต่างกันถึงประมาณ 10 ปีจึงเป็นพิรุธว่าเจ้ามรดกได้ทราบข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ ทั้งคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ในจุดที่สำคัญก็ไม่น่าเชื่อถือ เช่น จำเลยที่ 1 เบิกความตอบถามค้านว่าพินัยกรรม จ.10 เป็นพินัยกรรมที่แท้จริง เพราะจำเลยที่ 1 จำลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกที่ประทับในพินัยกรรมฉบับนี้ได้ ซึ่งการพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้แต่อย่างใด คำเบิกความดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือ และทำให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เบิกความเพื่อหวังประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ได้ความอีกว่าโจทก์ได้ดูแลเจ้ามรดกเป็นอย่างดี คือ จากเอกสารหมาย จ.21 และ จ.23 อันเป็นบัตรตรวจโรคของโรงพยาบาลขอนแก่นปรากฏว่าในวันที่ 16 สิงหาคม 2527 และวันที่3 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์เป็นผู้พาเจ้ามรดกไปโรงพยาบาล จากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 กลับได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบเรื่องเลยว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ถึง พ.ศ. 2528 เจ้ามรดกเคยเข้าโรงพยาบาล ซึ่งย่อมเป็นการชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้เอาใจใส่เจ้ามรดกตามควร จึงย่อมไม่มีเหตุที่เจ้ามรดกจะยกทั้งที่ดินส่วนหนึ่งและเงินสดทั้งหมดในธนาคารให้แก่จำเลยที่ 1 กับพวกทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดก ดูแลเอาใจใส่เจ้ามรดกด้วยดีตลอดมา ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงน้องชายของเจ้ามรดกเท่านั้นที่จำเลยนำสืบว่า เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือลงในพินัยกรรมขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นั้น ก็มีข้อพิรุธอยู่มาก ประการแรกผู้จัดทำพินัยกรรมคือนายเธียรชัย นนยะโส เป็นทนายของจำเลยที่ 1ในคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับจำเลยที่ 1 ประการต่อมาพยานในพินัยกรรมคือ นายอลงกต พลมุข นั้น จากคำเบิกความของนายเธียรชัย พยานจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบุคคลภายนอก ส่วนนายสงบสุริยินทร พยานในพินัยกรรมอีกคนหนึ่ง จำเลยไม่ได้นำมาเป็นพยานสำหรับนายมนตรี สาระบูรณ์ บุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างว่าสนิทกับเจ้ามรดกมาก อยู่ในขณะทำพินัยกรรมด้วย ก็มิได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ยิ่งกว่านั้น จำเลยที่ 1 พยายามนำสืบว่า ไม่ทราบว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ ทั้ง ๆ ที่บุตรของตนเบิกความว่า อยู่ในขณะทำพินัยกรรมด้วย ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 จึงเป็นพิรุธข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่าเจ้ามรดกซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปี และมีอาการไม่ค่อยรู้เรื่องจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินจำนวนมากถึง 10รายการให้บุคคลอื่น จากพยานหลักฐานที่นำสืบมาเห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกไม่มีสติสัมปชัญญะและไม่ทราบข้อความในพินัยกรรมพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.10 เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า พินัยกรรมตามฟ้องไม่มีผลบังคับ.

Share