คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข โดยมีข้อตกลงว่า กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อชำระราคา ตามเงื่อนไขครบถ้วนและในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดขาดการชำระเงินงวดใด ผู้ขายมีสิทธิที่จะเรียก ให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลืออยู่โดยพลัน ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องเช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 และ มาตรา 574 ในสาระสำคัญ จึงเป็น สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในสัญญา มิใช่สัญญาเช่าซื้อตามที่จำเลยอ้าง โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ม.มีอำนาจจดทะเบียนและโอนทะเบียนรถยนต์ไปยังผู้ซื้อแทนโจทก์ได้ ม.จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายแทนโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ราคา199,900 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 40,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ 5,330 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระเงินได้งวดเดียวก็ผิดนัด ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์ได้สูญหายไป โจทก์ได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยมาแล้ว100,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดที่รถยนต์สูญหาย โดยต้องชำระราคาที่ค้างอีก 54,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 341 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 54,911 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 54,570 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์เป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนางสาวมัลลิกาวงศ์ดาราพานิช ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาแทนโจทก์ รถยนต์สูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วยถ้าต้องรับผิดก็ไม่เกิน 19,450 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 17,670 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 54,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขหรือเป็นสัญญาเช่าซื้อและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์ข้อความในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ข้อ 3 ระบุว่า กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อชำระราคาตามเงื่อนไขครบถ้วน ข้อ 6ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดขาดการชำระเงินงวดใด จำนวนใดตามที่มีหน้าที่ต้องชำระโดยสัญญาฉบับนี้และหรือสัญญาฉบับอื่นใดที่ผู้ซื้อได้ทำไว้แก่ผู้ขายก็ดี…ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลืออยู่ในขณะนั้นเสียโดยครบถ้วนโดยพลันก็ได้… ซึ่งแตกต่างกับข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572 ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่าเช่าซื้อนั้น คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว…” และมาตรา574 บัญญัติว่า “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน…” สาระสำคัญของข้อความในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขดังที่ระบุในสัญญานั้นเอง ส่วนเรื่องอำนาจฟ้องนั้นปรากฏจากข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวมัลลิกาวงศ์ดาราพานิช มีอำนาจกระทำการจดทะเบียนและโอนทะเบียนรถยนต์ไปยังผู้ซื้อแทนโจทก์ได้ ฉะนั้นนางสาวมัลลิกาจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในฐานะผู้ขายในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า รถยนต์พิพาทมีราคาแท้จริง 163,000 บาทหักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระ และที่โจทก์ได้รับจากบริษัทประกันภัยจำนวน 100,000 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระราคารถยนต์ให้โจทก์อีกจำนวน 17,670 บาท ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share