คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ผู้คัดค้านต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย การจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆซึ่งจำเลย (ลูกหนี้) ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามมาตรา 115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แต่การที่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับจดทะเบียนจำนองจากจำเลยจึงเป็นคู่สัญญากับจำเลยโดยตรง มิได้เป็นบุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 116ผู้คัดค้านจึงไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิอันจะอ้างได้ว่าเป็นผู้ได้รับโอนหรือได้สิทธิมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ทั้งการจดทะเบียนจำนองที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการกู้เงินนั้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ เมื่อขายทรัพย์จำนองผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับชำระหนี้จนครบก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยไม่ต้องนำเงินที่ได้จากการขายไปเฉลี่ยตามอัตราส่วนกับเจ้าหนี้อื่นผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามความหมายของพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115 แล้วซึ่งการเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรานี้มิได้บัญญัติให้คำนึงถึงความสุจริตและการเสียค่าตอบแทนของผู้รับโอน แต่ให้พิจารณาถึงความมุ่งหมายของลูกหนี้ว่าจะให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่แล้วโดยมีเจ้าหนี้อื่นอีกหลายรายและจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวการจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของลูกหนี้(จำเลย) จึงเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้าน ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนดังกล่าวได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ทางสอบสวนของผู้ร้องปรากฏว่าจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 11981 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้คัดค้าน เป็นการกระทำในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนจำเลยถูกฟ้องให้ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจำนองระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ผู้คัดค้านไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนหากไม่ไปขอถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านโดยเห็นว่าผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านหลังจากพ้นกำหนดเวลาที่จะยื่นได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11981 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 346 ระหว่างจำเลยผู้จำนองกับบริษัทซีเอ็นเอ็น แลนด์ จำกัด ผู้รับจำนอง โดยให้ผู้รับจำนองไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากไม่ไปให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนา
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11981 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 342 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่าวันที่ 18 ตุลาคม 2533 จำเลยกู้เงินผู้คัดค้าน 1,100,000 บาท จำเลยชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยร่วมกับนายจำเนียร ผิวขำ กู้เงินผู้คัดค้านอีก 1,200,000 บาท โดยจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 11981 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 342 จดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้คัดค้านเป็นประกันหนี้ วันที่ 1 มีนาคม 2534 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย และศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายวันที่ 24 มกราคม 2538 มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 6 ราย เป็นเงิน 21,000,000 บาทเศษ คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การจดทะเบียนจำนองดังกล่าวระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น และผู้คัดค้านได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2534 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย การจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งจำเลย(ลูกหนี้) ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกอันจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เห็นว่า มาตรา 116 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในสองมาตรา ก่อนนั้นไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย” ผู้คัดค้านเป็นผู้รับจดทะเบียนจำนองจากจำเลย (ลูกหนี้) ในคดีล้มละลายจึงเป็นคู่สัญญากับจำเลย (ลูกหนี้) โดยตรง มิได้เป็นบุคคลภายนอกดังผู้คัดค้านอ้างผู้คัดค้านจึงไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิอันจะอ้างได้ว่าเป็นผู้ได้รับโอนหรือได้สิทธิมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้คัดค้านฎีกาอีกว่าผู้คัดค้านเป็นบริษัทสถาบันการเงิน จำเลยมากู้เงินโดยมีหลักประกันคุ้มค่าเงิน ผู้คัดค้านจึงให้จำเลยกู้เงินโดยสุจริต ไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่ทราบว่าจำเลยมีเจ้าหนี้ถึง 6 รายการจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะถือว่าจำเลยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นหาได้ไม่เพราะจะทำให้ผู้คัดค้านเสียประโยชน์ในหลักประกันการชำระหนี้ตามปกติวิสัยของการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้รายอื่นทั้ง 6 รายของจำเลยมีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหรือมีหลักประกันคุ้มหนี้ทั้งสิ้น เห็นว่า การจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการกู้เงินนั้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบเมื่อขายทรัพย์จำนองผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับชำระหนี้จนครบก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยไม่ต้องนำเงินที่ได้จากการขายไปเฉลี่ยตามอัตราส่วนกับเจ้าหนี้อื่น ผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามความหมายของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 แล้ว บทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้บัญญัติว่า “การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังจากนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น” ดังนี้การเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรานี้มิได้บัญญัติให้คำนึงถึงความสุจริตและการเสียค่าตอบแทนของผู้รับโอนดังที่ผู้คัดค้านอ้าง แต่ให้พิจารณาถึงความมุ่งหมายของลูกหนี้ว่าจะให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่แล้ว โดยมีเจ้าหนี้อื่นอีกหลายรายและจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของลูกหนี้ (จำเลย) จึงฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้ (ผู้คัดค้าน) ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า เจ้าหนี้รายอื่นทั้ง 6 รายของจำเลยเป็นเจ้าหนี้ที่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหรือมีหลักประกันคุ้มหนี้ทั้งสิ้น นั้น ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ร้องร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้น ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share