แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าทรัพย์สินโจทก์ทั้งสามมิได้สูญหายจริง แม้จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่า จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามสัญญาเช่าตู้นิรภัยเป็นการเช่าเพื่อเก็บทรัพย์สินซึ่งตู้นิรภัยอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะไม่รู้เห็นการนำทรัพย์สินเข้าเก็บหรือนำออกจากตู้นิรภัย จำเลยที่ 1 ก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดหากทรัพย์สินที่เก็บในตู้นิรภัยนั้นสูญหายจริง และข้อเท็จจริงยังปรากฏว่ามีลายนิ้วมือแฝงที่ตู้นิรภัยซึ่งมิใช่ของโจทก์ที่ 1และที่ 2 และมิใช่ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ด้วยเป็นข้อที่ชี้ให้เห็นว่า มีคนร้ายเข้าไปเปิดตู้นิรภัยและนำเอา ทรัพย์สินที่เก็บไปจริง จำเลยที่ 1 อ้างว่าอาจเป็นลายนิ้วมือแฝงของคนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นั้นก็เป็นการคาดคะเน โดยปราศจากข้อเท็จจริงสนับสนุน การที่คนร้ายลักเอาทรัพย์สิน ในตู้นิรภัยไปถือเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของจำเลยที่ 1ในการดูแลป้องกันภัยแก่ทรัพย์สิน ความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 จึงไม่พอ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิด ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทรัพย์บางรายการโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับฝากไว้จาก อ.โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดชอบต่ออ. ย่อมถือเป็นความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นกัน
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาด้วยกันเพื่อความสะดวกให้เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 3ให้เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 สำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 สำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องรวมใจความว่า โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาเช่าตู้นิรภัยของจำเลยที่ 1 สาขาบ้านโป่งแล้วนำทรัพย์สินมีค่าจำพวกเครื่องเพชรและเครื่องทองเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยดังกล่าว ต่อมาได้มีคนร้ายลักลอบลักเอาทรัพย์สินมีค่าที่เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัย ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เช่าไปรวม15 รายการ คิดเป็นเงิน 297,000 บาท และตู้นิรภัยที่โจทก์ที่ 3เช่าไปรวม 5 รายการ คิดเป็นเงิน 45,000 บาท โดยความบกพร่องหรือด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งห้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 297,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และจำนวน 45,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินจำนวน 297,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2และจำนวน 45,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยทั้ง 2 รายการในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์ทั้งสามในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 219,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และจำนวน45,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยทั้งสองรายการในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์ทั้งสามในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งถึงพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการป้องกันดูแลอย่างไรบ้าง เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสามบรรยายชัดเจนอันเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ดูแลตู้นิรภัยและลูกกุญแจธนาคารให้ดี เป็นเหตุให้คนร้ายลักเอาทรัพย์สินที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยที่โจทก์ทั้งสามเช่าจากจำเลยที่ 1 ไปได้ ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย เป็นคำฟ้องที่ได้ความแจ้งชัดถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ว่ามีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลตู้นิรภัยและลูกกุญแจธนาคารให้ดีเพื่อป้องกันภัยแก่ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยที่เช่าจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังใช้ความระมัดระวังนั้นไม่ดีพอเป็นผลให้คนร้ายลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามไปได้ฟ้องโจทก์ทั้งสามดังกล่าวนี้จึงแจ้งชัดทั้งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
และสำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสามมิได้สูญหายจริงและจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเพราะมิได้กระทำการละเมิดโจทก์นั้น สำหรับสำนวนที่ 2 แม้จำเลยที่ 1จะได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยในข้อนี้ให้เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกเห็นว่า ตามสัญญาให้เช่าและเช่าตู้นิรภัยระหว่างโจทก์ที่ 1และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 นั้นสรุปได้ความว่าเป็นการเช่าตู้เพื่อเก็บทรัพย์สินที่เรียกว่าตู้นิรภัยที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 โดยตลอด จำเลยที่ 1จึงมีหน้าที่รับผิดชอบในความปลอดภัยของทรัพย์สินที่เก็บในตู้นิรภัยนั้นโดยมีข้อจำกัดความรับผิดเฉพาะที่ต้องด้วยเงื่อนไขที่ปรากฏตามข้อสัญญาข้อที่ 10 เท่านั้น ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีส่วนรู้เห็นในรายละเอียดการนำทรัพย์สินเข้าเก็บหรือนำออกแต่ละครั้งก็ตามจำเลยที่ 1 ก็ยังคงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดหากทรัพย์สินที่เก็บในตู้นิรภัยนั้นสูญหายจริง และจากข้อเท็จจริงมีลายนิ้วมือแฝงปรากฏที่บริเวณตู้นิรภัยซึ่งมิใช่ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แม้จะมิใช่ของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ด้วยก็ตามก็เป็นข้อที่ชี้ให้เห็นในทางว่า มีบุคคลอื่นเป็นคนร้ายเข้าไปเปิดตู้นิรภัยและนำเอาทรัพย์สินที่เก็บนั้นไปจริง ข้อเถียงของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าอาจเป็นลายนิ้วมือแฝงของคนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ติดใจขอพิสูจน์ประการใดทั้ง ๆ ที่ทุกครั้งที่โจทก์ที่ 1และที่ 2 หรือคนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาขอเปิดตู้นิรภัยนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และต้องมีการลงชื่อไว้ด้วยข้อเถียงของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนี้จึงเลื่อนลอยตลอดจนเหตุอื่นที่จำเลยที่ 1 ยกเป็นข้อสงสัยโจทก์ที่ 1 และที่ 2นั้นก็ล้วนแต่เป็นข้อสรุปที่เป็นการคาดเดา เอาเองโดยปราศจากข้อเท็จจริงสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่นำสืบว่า ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยนั้นได้ถูกคนร้ายลักเอาไปจริงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดูแลป้องกันภัยแก่ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่เก็บในตู้นิรภัยนั้น ความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 จึงไม่พอ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยเต็มภาคภูมิ ส่วนทรัพย์ตามรายการที่ 1 ถึงที่ 4 นั้นแม้จะได้ความว่าเป็นทรัพย์สินของนางอ้อยทิพย์ มิใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับฝากไว้จากนางอ้อยทิพย์ ซึ่งย่อมมีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดชอบต่อนางอ้อยทิพย์ ย่อมถือเป็นความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชดใช้เช่นกันฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน