คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2184/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคือสัญญาบัญชีเดินสะพัด เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบและไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็น หนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น ถ้าตามพฤติการณ์ ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันเห็นได้ว่ามีข้อตกลงการเบิกเงินเกินบัญชี และบัญชีเดินสะพัดย่อมบังคับต่อกันได้ ปรากฏว่าจำเลย ได้ยื่นคำขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์ คำขอนั้น นอกจากเป็นข้อตกลงที่จำเลยยอมผูกพันกับธนาคารเรื่อง การฝากเงินแล้ว ยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเงิน และถอนเงินว่าจำเลยต้องสั่งจ่ายหรือถอนเงินโดยเช็คของ ธนาคารโจทก์และในกรณีที่ธนาคารผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตามทั้งที่เงินฝากคงเหลือไม่พอจ่ายตามเช็คผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่ธนาคารผ่อนผันจ่ายไปให้นั้นคืนแก่ธนาคาร โดยถือเสมือนว่าผู้ฝากเป็น หนี้ธนาคารอยู่ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหรือหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ต่อธนาคารและยินยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในเงินจำนวนนั้น ทั้งได้ความว่าหลังจากทำสัญญาตามคำขอดังกล่าวแล้ว จำเลยได้สั่งจ่ายเช็ค มีการคิดดอกเบี้ยตามประกาศของ ธนาคารและมีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยกันมาโดยตลอดเป็น เวลาประมาณ 6 ปี ดังนี้ คำขอเบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็น สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด แม้จะฟังว่าโจทก์ได้แก้ไขอัตราดอกเบี้ยในสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยก็ตาม แต่ก็เป็นการแก้ไขเพื่อให้ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งมิได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยหรือประชาชน กลับเป็นประโยชน์ ต่อจำเลย จำเลยเองเพิ่งมาหยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างเมื่อถูกฟ้อง เป็นคดีนี้ ก่อนหน้านี้จำเลยได้มีบัญชีเดินสะพัดกับ โจทก์มาโดยตลอด สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงไม่เป็นเอกสารปลอม เมื่อจำเลยได้มีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบัญชี เดินสะพัดกับโจทก์ การจ่ายเงินเกินบัญชีของโจทก์ให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นการจ่ายเงินตามอำเภอใจ อันเป็นเรื่อง ลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407แต่เป็นการจ่ายเงินตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความในเรื่องลาภมิควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจำนวน 281,821.82 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 275,947.56 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์จ่ายเงินแทนจำเลยโดยไม่สอบถามจำเลยก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนในฐานะลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 407 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องโจทก์เคลือบคลุมบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน267,877.08 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 จำเลยได้ยื่นคำขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีและเงื่อนไขการเปิดบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารโจทก์ บัญชีธนาคารเลขที่ 957-3 โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อในคำร้องขอเปิดบัญชีเดินสะพัดปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่า โจทก์ได้ทำการหักทอนบัญชีเมื่อใด และยอดหนี้ตามฟ้องเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด และมิได้บรรยายว่าในช่วงใดธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใดทั้งไม่ได้แสดงรายละเอียดบัญชีกระแสรายวัน จำเลยจึงไม่มีทางทราบและต่อสู้ได้นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่จะต้องนำพยานมาสืบในเมื่อเป็นประเด็นข้อพิพาทแม้โจทก์จะมิได้บรรยายมาก็ตามก็ไม่ทำให้คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่าคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคือสัญญาบัญชีเดินสะพัด เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบและไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นถ้าตามพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันเห็นได้ว่ามีข้อตกลงการเบิกเงินเกินบัญชีและบัญชีเดินสะพัดย่อมบังคับต่อกันได้ คดีนี้นอกจากตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ถึงข้อ 5 จะเป็นข้อตกลงที่จำเลยยอมผูกพันกับธนาคารเรื่องการฝากเงินแล้ว ยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเงินและการถอนเงินว่าจำเลยจะต้องสั่งจ่ายหรือถอนเงินโดยเช็คของธนาคารโจทก์ และตามสัญญาข้อ 8 ในกรณีที่ธนาคารได้ผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตามทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค “ผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่ธนาคารผ่อนผันจ่ายไปให้นั้นคืนแก่ธนาคาร โดยถือเสมือนว่าผู้ฝากเป็นหนี้ธนาคารอยู่ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารและยินยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในจำนวนนั้นให้แก่ธนาคารในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืม” ข้อความดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยได้ตกลงทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ ยังได้ความจากทางนำสืบโจทก์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งว่า หลังจากทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 มีการคิดดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นกันมาโดยตลอดเป็นเวลาประมาณ 6 ปี ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชีและบัญชีเดินสะพัด จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ โดยข้อที่จำเลยอ้างว่าปลอมนั้น เนื่องจากมีการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ข้อ 8 จากอัตรา 18.5 เป็น 16.5 โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยเห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดจะถูกยกเลิกโดยสัญญาบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ก็ตาม จะเป็นการปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อผู้กระทำได้มีเจตนาแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารเพื่อให้ผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ดังนั้นแม้จะฟังว่าโจทก์ได้แก้ไขอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยก็ตามแต่ก็เห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขเพื่อให้ตรงต่อความเป็นจริงและมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยหรือประชาชน กลับเป็นประโยชน์ต่อจำเลย จำเลยเองเพิ่งมาหยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีนี้ ก่อนหน้านี้จำเลยได้มีบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์มาโดยตลอด ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น”
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าเมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้มีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์การจ่ายเงินเกินบัญชีของโจทก์ให้แก่จำเลยซึ่งมิใช่เป็นการจ่ายเงินตามอำเภอใจ อันเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 แต่เป็นการจ่ายเงินตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความในเรื่องลาภมิควรได้”
พิพากษายืน

Share