คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แล้ว การที่โจทก์ ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยตามสัญญาดังกล่าว ย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ ซึ่งตามมาตรา 411 ระบุถึงกรณีที่บุคคลใดได้ชำระหนี้เป็นการ อันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี บุคคลนั้นจะเรียกร้องทรัพย์คืนไม่ได้ ดังนั้น โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐาน ลาภมิควรได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่ จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มี วัตถุประสงค์เป็นอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็น โมฆะตามมาตรา 150 จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อม ดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้โจทก์1 แปลง โดยจำเลยยืนยันว่าจะดำเนินการให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบ แต่จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือตกลงที่จะคืนเงินให้แก่โจทก์โดยทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 150,000 บาท ให้โจทก์ไว้ ยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระคืนโจทก์ภายในวันที่ 14พฤษภาคม 2539 เมื่อถึงกำหนดจำเลยมิได้ชำระเงินคืนตามสัญญาขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 172,872 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมีกำหนดตลอดอายุของจำเลย เป็นเงิน 150,000 บาทโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ประมาณ 5 ปี แต่ไม่ได้ผลโจทก์ขอให้จำเลยคืนค่าเช่าครึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยินยอมโจทก์จึงนำหนังสือสัญญากู้เงินปลอมมาฟ้องจำเลยโดยจำเลยไม่มีหนี้กับโจทก์และหากโจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่ซื้อที่ดินก็ถือเป็นลาภมิควรได้แต่มิได้ฟ้องร้องเอาคืนภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 แปลงหนี้มาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าว หนังสือสัญญากู้เงินจึงตกเป็นโมฆะด้วย จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ใช้บังคับได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ตกเป็นโมฆะ จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 150,000 บาท ที่จำเลยรับจากโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งเป็นโมฆะนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง แต่จำเลยไม่มีเงินชำระคืนให้แก่โจทก์ทันทีจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ไว้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ฐานลาภมิควรได้มาเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยตามสัญญาดังกล่าว ย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 4ว่าด้วยลาภมิควรได้ ซึ่งตามมาตรา 411 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่”โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share