แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า เมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตามกฎหมายให้แก่ผู้บาดเจ็บหรือผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้จำกัดเฉพาะการฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535เท่านั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงหยิบยกบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 882 ขึ้นวินิจฉัยได้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535มาตรา 31 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ มีความหมายว่าถ้าบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว บริษัทมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย แต่อายุความ 1 ปี ดังกล่าวมิได้ หมายความรวมถึง การฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บริษัทผู้รับประกันภัยรถคันที่ก่อ ให้เกิดความเสียหายด้วย เมื่อจำเลยเป็นบริษัทผู้รับประกันภัย รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย มิใช่เป็นบุคคลภายนอก ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในเหตุที่รถชนกันแล้ว กรณีจึง ไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 31 วรรคสอง ดังกล่าวมาใช้บังคับ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาจากผู้รับประกันภัยด้วยกัน ต้องใช้อายุความ 2 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 9ย-0560 จากนายสมคิด ทองราศี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีอายุการคุ้มครอง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2539 จำเลยรับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 82-6317 กรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีนายแหวน พรมท่อน เป็นผู้ขับ โดยมีเงื่อนไขว่าหากรถบรรทุกคันดังกล่าวไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกจำเลยจะต้องรับผิดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 เวลา 11.50 นาฬิกา นายแหวนขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 82-6317 กรุงเทพมหานคร ตามหลังรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 9ย-0560 ซึ่งมีนายศรีศักดิ์ สุขสกุลเป็นผู้ขับและนายสมพร บัวแย้ม เป็นผู้นั่งซ้อนท้ายเมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุนายแหวนขับรถบรรทุกแซงรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวขึ้นไปทางขวาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยตัดหน้ากะทันหันเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ทำให้นายศรีศักดิ์และนายสมพรได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุนายแหวนรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่าตนเป็นฝ่ายประมาทและยินยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 400 บาท โจทก์ได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นในกรณีของนายศรีศักดิ์เป็นเงิน 1,103 บาท และกรณีของนายสมพรเป็นเงิน 10,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันดังกล่าวขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 11,103 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงสละข้อต่อสู้ทั้งหมดในคำให้การจำเลยและรับว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับขี่รถคันที่จำเลยรับประกันภัย และขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 11,103 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ตั้งสิทธิเป็นการฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มิได้เรียกร้องฐานละเมิดประกันภัยรับช่วงสิทธิการวินิจฉัยคดีจำต้องนำพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วมาใช้บังคับ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 มาใช้บังคับเป็นการไม่ถูกต้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า เมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตามกฎหมายให้แก่ผู้บาดเจ็บหรือผู้เอาประกันภัยไปแล้วโจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้จำกัดเฉพาะการฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ดังที่จำเลยฎีกา สำหรับเรื่องอายุความนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 31 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุในวรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอกหรือเกิดขึ้นเพราะความจงใจ หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถผู้ขับขี่รถผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัยเมื่อบริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแล้วแต่กรณีมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าว หรือมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นได้” และในวรรคสอง บัญญัติว่า”การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ต้องกระทำภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย หรือภายในห้าปีนับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ถ้าบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว บริษัทมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยแต่อายุความ 1 ปี ดังกล่าว มิได้หมายความรวมถึงการฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บริษัทผู้รับประกันภัยรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย มิใช่เป็นบุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในเหตุที่รถชนกันแล้วกรณีจึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 31 วรรคสองดังกล่าวมาใช้บังคับ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาจากผู้รับประกันภัยด้วยกัน ต้องใช้อายุความ 2 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง มาปรับใช้แก่คดีนี้แล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน