คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดว่า โจทก์ เข้าประมูลซื้อที่ดิน โดยกดราคาที่ดินของจำเลย ให้ต่ำกว่าปกติ เป็นการซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยราคา ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้จะต่ำกว่าราคา ที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินถึง 4 เท่า และราคาที่เจ้าพนักงาน บังคับคดีอนุมัติให้ขายแก่โจทก์ซึ่งให้ราคาสูงสุด จะต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินเกิน 3 เท่าทั้งเป็นการขายครั้งแรกหากเป็นจริงตามคำร้องจะเห็นได้ว่าการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีลักษณะกดราคาที่ดินให้ต่ำมาก และไม่ระมัดระวังในการตรวจสอบราคาอันแท้จริงส่อพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตอยู่ในตัว ย่อมมีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะเพิกถอนการขายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง แม้ตามคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของจำเลย จะ มิได้กล่าวอ้างอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นการกระทำ ของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตามแต่หากพิจารณาคำร้อง คัดค้านการขายทอดตลาดพร้อมเอกสารที่แนบท้ายคำร้อง แล้วพอแปลได้ว่าจำเลยกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งการบังคับคดีแล้ว คำร้องของ จำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการ ไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทั้ง 2 แปลง โดยประเมินราคาไว้ 753,600 บาท ประกาศขายทอดตลาด ต่อมาในการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ในราคา 1,200,000 บาท หัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแก่โจทก์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเสนอ
จำเลยยื่นคำร้องว่า ราคาที่ดินทั้ง 2 แปลง ที่ได้ขายทอดตลาดไปต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันทั่วไปบริเวณที่ดินตั้งอยู่ และยังต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน ซึ่งประเมินราคาไว้ในราคา 3,131,750 บาท มากเป็นการซื้อที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและประกาศขายทอดตลาดใหม่
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์จำนอง คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 4 และที่ 55 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองกะเบียน (สายห้วยแก้ว) อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา และ 25 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ตามลำดับ เพื่อนำมาขายทอดตลาดโดยที่ดินแปลงแรกหรือทะเบียนเลขที่ 4 อยู่ติดถนนสายหนองโพธิ์ – หนองม่วง ส่วนที่ดินแปลงที่สอง ทะเบียนเลขที่ 55 อยู่ติดที่ดินแปลงแรกทางด้านหลัง และไม่มีด้านใดติดถนนสาธารณะ ดังปรากฎตามรายการยึดที่ดินและแผนที่แบบ 11 ฉบับ ลงวันที่13 กุมภาพันธ์ 2540 รวม 3 ฉบับ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินทั้งสองแปลงไว้รวม 753,600 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดและดำเนินการขายทอดตลาดเป็นครั้งแรกในวันที่ 6 พฤษภาคม 2540 ซึ่งมีผู้มาฟังการขายทอดตลาด 6 คน และโจทก์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 1,200,000 บาท โดยจำเลยคัดค้านการขายทอดตลาดแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นับหนึ่งถึงสามและทำการเคาะไม้ขายแก่โจทก์ พร้อมกับเสนอหัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรีอนุญาตให้ขายอีกชั้นหนึ่งด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า คำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของจำเลย ฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่า โจทก์เข้าประมูลซื้อที่ดินในราคา 1,200,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายทั่ว ๆ ไปและต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี สาขาบ้านหมี่ ซึ่งประเมินราคาไว้รวม 3,131,750 บาท ตามหนังสือรับรองแนบท้ายคำร้องการประมูลซื้อที่ดินครั้งนี้โจทก์กดราคาที่ดินของจำเลยให้ต่ำกว่าปกติ เป็นการซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า หากเป็นจริงตามคำร้อง ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้จะต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินถึง 4 เท่า และราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายแก่โจทก์ซึ่งให้ราคาสูงสุดต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินเกือบ 3 เท่า ทั้งเป็นการขายครั้งแรก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีลักษณะกดราคาที่ดินให้ต่ำมากไม่ระมัดระวังในการตรวจสอบราคาอันแท้จริง ส่อพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตอยู่ในตัว ย่อมมีเหตุตามกฎหมายที่ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการขายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง แม้ตามคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของจำเลยมิได้กล่าวอ้างอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตามแต่เมื่อพิเคราะห์คำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดพร้อมเอกสารที่แนบท้ายคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดแล้ว ก็พอแปลได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งการบังคับคดีนั่นเองคำร้องของ จำเลยจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้วทุกประการ อันควรที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการไต่สวนต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของ จำเลยไว้ดำเนินการไต่สวนต่อไป

Share