คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ต่างใช้รูปหัวไก่เป็นส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีส่วนคล้ายกันมาก แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้า ของโจทก์และจำเลยเป็นสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกันหรือต่างจำพวก สินค้ากันในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้และโจทก์กับจำเลยต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนสำหรับ สินค้าคนละประเภทกันดังกล่าวผลิตออกจำหน่ายแก่สาธารณชน โดยสุจริตมาเป็นเวลานานหลายสิบปี จนสาธารณชนทราบดีว่า สินค้าชนิดใดเป็นของโจทก์ ชนิดใดเป็นของจำเลย มิได้ทำให้ สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้า ของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียน ไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็น เจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น ไม่เข้าลักษณะ ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6(3) และ 13 วรรคหนึ่ง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาโดยสุจริตการที่โจทก์มิได้ต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และนายทะเบียนได้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้น มีผลทำให้โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอันจะได้รับความคุ้มครองในฐานะดังกล่าวตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เท่านั้น หาได้เป็นการตัดสิทธิโจทก์ไม่ให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไปไม่และโจทก์ย่อมมีสิทธิ ที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใหม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่เสียสิทธิในการใช้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงหาใช่ข้อวินิจฉัยที่ คลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย และโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย ให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 260339ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 59357 ทะเบียนเลขที่ 40511 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่มิให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอข้างต้นในรายการสินค้าประเภทกระป๋อง ห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยคำพิพากษานี้ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับภาชนะและเครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งทำจากโลหะอะลูมิเนียม เช่น หม้อ ขัน รังถึงนึ่งอาหาร กระทะ กาน้ำ ปิ่นโต เป็นต้น โดยใช้เครื่องหมายการค้าตรารูปหัวไก่อยู่ในวงกลมหันหน้าไปทางขวามือใต้วงกลมไม่มีอักษรโรมันเป็นส่วนประกอบเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเดิมนายซกเทง แซ่ฉั่ว น้องโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2505 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 25220 เอกสารหมาย จ.14 ต่อมานายซกเทงน้องโจทก์ได้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้โจทก์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2509 ตามสำเนารายการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเอกสารหมาย จ.15 และโจทก์ได้ต่ออายุทะเบียนรวม2 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2515 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่28 มิถุนายน 2525 ตามสำเนาการต่ออายุทะเบียนเอกสารหมายจ.16 แต่โจทก์มิได้ต่ออายุทะเบียนในครั้งที่ 3 ภายในกำหนดวันที่28 มิถุนายน 2535 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ส่วนบริษัทจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปหัวไก่ประดิษฐ์อยู่ในวงกลมบริเวณลำคอไก่มีอักษรภาษาจีนอ่านว่า เซียงซัวและมีอักษรโรมันคำว่า “COCKSEC”อยู่ใต้วงกลมรูปหัวไก่ โดยจดทะเบียน ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยตั้งแต่วันที่16 มิถุนายน 2510 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 13 เดิม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ของที่ทำด้วยโลหะซึ่งไม่เข้าในจำพวกอื่น รายการสินค้า กระบอกฉีดและหัวสูบที่ทำด้วยโลหะสำหรับใช้ในการฉีดหรือพ่นหัวเทียน ท่อโลหะ เตาน้ำมันก๊าด เตาแก๊สโคมไฟฟ้า ซึ่งทำด้วยโลหะทุกชนิดที่อยู่ในจำพวกนี้ จอบ เสียม พลั่วค้อน กลอน บานพับ กุญแจ โซ่ ระฆัง แหนบ สำหรับใช้กับยวดยานลูกปืนสำหรับใช้กับยวดยานและสำหรับใช้กับของใช้อื่น ๆ ทุกชนิดซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ ตลับลูกปืน ตะขอทุกชนิดซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ ตะเกียง เบ็ดตกปลา ถังที่ทำด้วยโลหะ หลอดไฟฟ้า ลวดหนาม ตะปู ที่สำหรับจุดบุหรี่ซึ่งอยู่ในจำพวกนี้แหวนสปริงทุกชนิดสำหรับใช้กับยวดยาน ซิปรูด และกระดุมที่ทำด้วยโลหะทุกชนิดซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ ตามสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 40511 เอกสารหมาย จ.17 และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในประเทศต่าง ๆ เช่น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ศรีลังกา เนเธอร์แลนด์ เป็นต้นจำเลยได้โฆษณาจนสินค้าของจำเลยเป็นที่แพร่หลายรู้จักทั่วไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปหัวไก่ดังกล่าวใหม่โดยใช้กับสินค้าจำพวกที่ 21ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เครื่องใช้และภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน รายการสินค้า กระติก กระป๋อง กล่องสบู่ กระโถน กระทะ กาน้ำ หม้อ ขัน คูลเลอร์ กะละมัง แจกัน โถ กระถาง ชาม อ่าง ช้อน ส้อม ตะกร้า ถาด ถัง ถังขยะ ถ้วย ทัพพี ฝาปิดโอ่ง พาน ฝาชี ปิ่นโต ไม้แขวนเสื้อ เหยือก และจาน ตามคำขอเลขที่ 260339 เอกสารหมาย จ.4 จำเลยได้ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนให้อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนที่ 161/2538 เอกสารหมาย จ.8 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำวินิจฉัยที่ 454/2540 เอกสารหมายจ.10 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยได้ต่อสู้ในคำให้การว่าโจทก์ฟ้องคดีเกิน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2510 ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยแต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ไว้ ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ที่จำเลยให้การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวก็เพื่อให้ศาลพิพากษายกคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแต่ก็ได้พิพากษาให้ยกคำขอดังกล่าวของโจทก์ ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้แต่อย่างใด ข้อที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ยกคำขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังนี้ ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะผลแห่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยุติดังกล่าวก็ตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ได้ให้การและอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่างใช้รูปหัวไก่เป็นส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีส่วนคล้ายกันมากตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ และจำเลยก็เห็นพ้องด้วยในข้อนี้ แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้กับสินค้าประเภทภาชนะและเครื่องใช้ในครัวเรือนซึ่งทำจากโลหะอะลูมิเนียม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าประเภทกระบอกฉีดและหัวสูบที่ทำด้วยโลหะสำหรับใช้ในการฉีดหรือพ่น กับอุปกรณ์ที่ใช้กับยานยนต์ จึงเห็นได้ว่าสินค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกันหรือต่างจำพวกสินค้ากันในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ เมื่อจำเลยให้การอ้างว่าโจทก์ได้ดัดแปลงเครื่องหมายการค้าของจำเลยมาเป็นของโจทก์แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ข้อเท็จจริงกลับฟังได้จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์กับจำเลยต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนสำหรับสินค้าคนละประเภทกันดังกล่าวที่โจทก์และจำเลยได้ผลิตออกจำหน่ายแก่สาธารณชนโดยสุจริตมาเป็นเวลานานหลายสิบปีจนสาธารณชนทราบดีว่าสินค้าชนิดใดเป็นของโจทก์ ชนิดใดเป็นของจำเลยกล่าวคือ สินค้าของโจทก์สาธารณชนจะรู้จักสินค้าหม้อนึ่งข้าวเหนียวที่ทำด้วยอะลูมิเนียม กับภาชนะและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือนตราหัวไก่ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตออกจำหน่าย ส่วนสินค้าของจำเลยสาธารณชนจะรู้จักสินค้ากระป๋องยาฉีดฆ่ายุง หรือแมลงตราหัวไก่จำเลยเป็นผู้ผลิตออกจำหน่าย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมไม่ได้ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าของจำเลยหรือสับสนในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6(3) และ 13 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ชอบที่นายทะเบียนจะดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เลขที่ 260339ต่อไปได้ ยกเว้นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับรายการสินค้ากระป๋องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับรายการสินค้าดังกล่าวซึ่งโจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเมื่อโจทก์ขาดต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไปนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาโดยสุจริต การที่โจทก์มิได้ต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และนายทะเบียนได้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้น มีผลทำให้โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอันจะได้รับความคุ้มครองในฐานะดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เท่านั้น หาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิโจทก์ไม่ให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไปไม่ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไป เพียงแต่อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งได้รับความคุ้มครองบางประการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เช่น สิทธิที่จะฟ้องบุคคลที่เอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา 46 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นต้นและโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใหม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่เสียสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงหาใช่ข้อวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นขัดกันนั้นเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยตอนต้นแล้วว่าแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยมีความคล้ายกัน แต่โจทก์และจำเลยใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันจึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือผิดหลงในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ซึ่งมีความหมายเท่ากับมีผลให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6(3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 ดังนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดกันดังที่จำเลยอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share