แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และ ส. ร่วมกัน และเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน เมื่อโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดก ส่วนของตนตลอดมา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่ง ทรัพย์มรดกนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง แม้จะล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 1754 คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ตามคำฟ้องและคำให้การไม่มีประเด็นเรื่องสัญญา ประนีประนอมยอมความ แต่จำเลยเพิ่งยื่นสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อศาลประกอบคำเบิกความพยานจำเลย จึงมิใช่กรณี คู่ความตกลงหรือประนีประนอมยอมความและให้ศาลพิพากษา ตาม ยอมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138การที่ศาลชั้นต้นไม่หยิบยกปัญหานี้ขึ้นพิจารณาชอบแล้วดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้วเช่นกัน และจำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ต่อมาเพราะมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายเสาร์และนางคูณ จำปาเทศโดยบิดามารดาโจทก์มีบุตรด้วยกัน 5 คน รวมทั้งนายสิงห์ จำปาเทศด้วย จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายสิงห์และมีบุตรด้วยกันรวม 5 คน คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ปัจจุบันบิดามารดาและพี่น้องของโจทก์ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว เดิมบิดามารดามีที่นาเป็นที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 95 ไร่ หลังจากบิดามารดาถึงแก่กรรมพี่น้องทุกคนให้นายสิงห์ซึ่งเป็นพี่คนโตไปขอออก ส.ค.1 แทนน้องทุกคน โดยตกลงจะแบ่งปันกันภายหลัง ต่อมาน้องคนอื่นถึงแก่กรรมไปหมด ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์และนายสิงห์เพียง 2 คน ซึ่งได้ร่วมกันครอบครองทำกินตลอดมา ภายหลังนายสิงห์ขอออกเป็นโฉนดเลขที่ 3630 โดยความยินยอมของโจทก์ ครั้นปี 2521 โจทก์และนายสิงห์ตกลงแบ่งที่ดินกันคนละครึ่ง โดยส่วนของโจทก์อยู่ทางทิศตะวันตกแต่ระหว่างรอการรังวัดแบ่งแยกนายสิงห์ถึงแก่กรรม หลังจากนายสิงห์ถึงแก่กรรมจำเลยทั้งหกไปยื่นคำขอรับมรดกที่ดินทั้งแปลง แต่โจทก์คัดค้าน แล้วจำเลยทั้งหกตกลงจะแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามที่เคยตกลงกับนายสิงห์โจทก์จึงถอนคำคัดค้านและยังครอบครองทำกินในที่ดินส่วนของโจทก์เรื่อยมา จนกระทั่งต้นปี 2535 ฝ่ายจำเลยห้ามโจทก์ไม่ให้เข้าทำนาโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โจทก์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าถูกหลอกให้ถอนคำคัดค้าน เพราะจำเลยทั้งหกขอรับโอนมรดกที่ดินไปตั้งแต่ปี 2524 โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งหกไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งแต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนที่เกินส่วนของนายสิงห์ทางด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 47 ไร่ 2 งาน 86 ตารางวา และให้จำเลยทั้งหกจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3630 ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธรด้านทิศตะวันตกครึ่งหนึ่งแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งหกฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายสิงห์แต่ผู้เดียวหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์สมเหตุสมผลมีน้ำหนักให้เชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดาซึ่งตกได้แก่โจทก์และนายสิงห์แม้จะปรากฏว่าภายหลังโจทก์ยื่นคำขอถอนคำค้านการขอรับมรดกที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งหกตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ระบุเพียงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเองได้แล้วมิใช่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก จึงไม่มีผลให้ที่ดินพิพาทแปรสภาพเป็นมิใช่ทรัพย์มรดกต่อไปแต่อย่างใดข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และนายสิงห์ร่วมกัน มิใช่เป็นของนายสิงห์แต่ผู้เดียว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกและทรัพย์มรดกดังกล่าวยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกส่วนของตนตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะล่วงพ้นอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยทั้งหกไม่มีประเด็นเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใดและสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจำเลยทั้งหกเพิ่งยื่นต่อศาลประกอบคำเบิกความพยานจำเลยทั้งหก มิใช่กรณีคู่ความตกลงหรือประนีประนอมยอมความและให้ศาลพิพากษาตามยอมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ศาลจึงไม่อาจจะพิพากษาบังคับให้ได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่หยิบยกขึ้นพิจารณาชอบแล้ว ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกเกี่ยวกับสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล จำเลยทั้งหกจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ต่อมา ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน