คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยได้แอบซุ่มดูจำเลยในระยะใกล้ ในเวลากลางวันทั้งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธอย่างไร เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็บันทึกไปตามความประสงค์ของจำเลย กรณีจึงไม่มีเหตุที่ระแวงว่าพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลย จะเบิกความปรักปรำจำเลย เมื่อเจ้าพนักงานสอบสวนพาจำเลย ไปชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ จำเลยก็คง นำชี้ตามคำรับสารภาพ ซึ่งหากจำเลยไม่ได้กระทำผิด แล้วจำเลยย่อมจะปฏิเสธได้เพราะเป็นเจ้าพนักงานต่างคนกัน และจดบันทึกในเวลาต่างกัน ฟังได้ว่าอีเฟดรีนของกลางจำนวน 587 เม็ดเป็นของจำเลย สำหรับธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ จำนวน 3,100 บาท แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ว่าหายไปได้อย่างไร ก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมก็หาเป็นสาระสำคัญแก่คดีอย่างไรไม่ เพราะพยานหลักฐานโจทก์ดังที่กล่าวมานับว่ามั่นคงรับฟังได้ อยู่แล้วว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 6(7 ทวิ), 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 รอบอีเฟดรีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 วรรคหนึ่ง,106 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ริบอีเฟดรีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมด้วยอีเฟดรีนตามฟ้องคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทมนัส ฑิตะลำพูน และสิบตำรวจตรีชัยณรงค์ ทับทิมเบิกความต้องกันว่าพยานโจทก์ทั้งสองได้ให้สายลับเข้าไปล่อซื้อของกลางดังกล่าวจากจำเลย โดยร้อยตำรวจโทมนัสได้นำธนบัตรที่จะใช้ล่อซื้อจำนวน 3,300 บาท ไปลงบันทึกประจำวันและถ่ายเอกสารไว้เป็นหลักฐานตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและภาพถ่ายธนบัตรของกลางเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 พยานโจทก์ทั้งสองเห็นจำเลยกับสายลับพูดคุยกันอยู่หน้าบ้านหลังจากนั้นจำเลยก็เดินไปหยิบสิ่งของซึ่งห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์จากบริเวณก้อนหินและกอตะไคร้ ซึ่งอยู่ข้างบ้านนำมาให้สายลับและสายลับก็ส่งมอบธนบัตรให้จำเลยจากนั้นสายลับได้นำสิ่งของที่ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์มามอบให้จ่าสิบตำรวจดำรงพยานโจทก์ทั้งสองจึงเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยพบของกลางและธนบัตรฉบับละ 100 บาท รวม 2 ฉบับ ซึ่งลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.1 ไว้ ที่กระเป๋ากางเกงซึ่งจำเลยสวมอยู่ ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพและภาคเสธตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.3 จ.4 และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกฐานิสร อุทัยวงษ์ เบิกความว่า พยานเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.2 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ทั้งจำเลยยังเป็นผู้นำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพด้วยตามบันทึกการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย ป.จ.3 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยได้แอบซุ่มดูจำเลยในระยะใกล้ในเวลากลางวัน ทั้งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธอย่างไรเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็บันทึกไปตามความประสงค์ของจำเลยดังปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.3กรณีจึงไม่มีเหตุที่ระแวงว่าพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยจะเบิกความปรักปรำจำเลย สำหรับพยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอกฐานิสรพนักงานสอบสวนก็ได้บันทึกคำให้การของจำเลยตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.2 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ตามความประสงค์ของจำเลยอีกเช่นกัน คือมีทั้งส่วนที่จำเลยรับสารภาพและปฏิเสธ หลังเกิดเหตุอีก 5 วัน เมื่อร้อยตำรวจเอกฐานิสรพาจำเลยไปชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยก็คงนำชี้ตามคำรับสารภาพซึ่งหากจำเลยไม่ได้กระทำผิดแล้วจำเลยย่อมจะปฏิเสธได้เพราะเป็นเจ้าพนักงานต่างคนกันและจดบันทึกในเวลาต่างกันข้อเท็จจริงฟังได้ว่าของกลางจำนวน 587 เม็ด เป็นของจำเลยด้วยที่จำเลยนำสืบว่าธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ จำเลยได้มาจากขายเสื้อผ้าให้นางติ๊ก คงมีแต่ตัวจำเลยเท่านั้นที่เบิกความเป็นพยาน จำเลยมิได้นำนางติ๊กมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของตน สำหรับธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน 3,100 บาท แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ว่าหายไปได้อย่างไรก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมหาเป็นสาระสำคัญแก่คดีอย่างไรไม่เพราะพยานหลักฐานโจทก์ดังที่กล่าวมานับว่ามั่นคงรับฟังได้อยู่แล้วว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาอีกข้อว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยสูงเกินไปนั้น เห็นว่าจำเลยมีของกลางเป็นจำนวน 922 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายในจำนวนถึง 200 เม็ด กรณีนับว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องและกำหนดโทษมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share