คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8463/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม แต่ก็อ้างว่าเป็นทางสาธารณะด้วย ก็เพื่อขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาท ส่วนทางพิพาทจะเป็นทางภาระจำยอมหรือทางสาธารณะก็สุดแล้วแต่ว่าข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะต้องด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าทางพิพาทเป็นทางชนิดใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ทางพิพาทมีความกว้าง 2.50 เมตร โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้เถียงเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้เป็นยุติ แต่ตามแผนที่วิวาทแสดงชัดว่าทางพิพาทหาได้มีสภาพเป็นเส้นขนานทับแนวเขตที่ดินของจำเลยและบุคคลอื่นโดยล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กันไม่ เพราะบางตอนอาจกินเนื้อที่ของจำเลยน้อยหรือมากแตกต่างกันไป การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทำทางพิพาทลึกจากแนวเขตเส้นสีดำตามแผนที่วิวาทเข้าไปในที่ดินของจำเลยมีความกว้าง 1.25 เมตร ตลอดแนวทางพิพาทจึงไม่ตรงกับแนวทางพิพาทตามที่ปรากฏในแผนที่วิวาท และอาจกระทบถึงที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ ส่วนคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็กำหนดแนวเขตชัดเจนเกินไปจนอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากแนวเขตทางพิพาทตามแผนที่วิวาทซึ่งคู่ความมิได้โต้เถียงกันถึงความถูกต้องได้ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเป็นว่า ให้จำเลยทำทางพิพาทเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยให้เป็นไปตามรูปแผนที่วิวาท โดยให้ทางพิพาทมีความกว้าง2.50 เมตร ตลอดแนวทาง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับบุคคลอื่นอีก 2 คน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 13399 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33998 เนื้อที่ 8 ไร่ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลที่ดินแปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว คนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองใช้ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะโดยผ่านที่ดินของนางสาวพรทิพย์ เกตุสุวงศ์ นายประสิทธิ์ สุนทรวิภาต และจำเลยที่ 1 โดยทางที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ยาวประมาณ 150 เมตร กว้างประมาณ 2.40 เมตร ตลอดแนว การผ่านทางใช้กระบือลากล้อเลื่อน ต่อมาใช้รถไถนาลากรถสาลี่บรรทุกข้าว ตลอดจนใช้เป็นเส้นทางให้รถบรรทุกเข้าออกในการติดต่อซื้อขายข้าวเปลือกและปุ๋ย โดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องได้รับอนุญาตจากใครทางดังกล่าวจึงตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้บุคคลอื่นที่มีที่ดินและบ้านอยู่ติดทางพิพาทหรือถัดจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองรวมทั้งพ่อค้าที่นำรถบรรทุกเข้ามาซื้อข้าวในที่นา ต่างก็ใช้ทางพิพาทมานานกว่า 50 ปี โดยจำเลยที่ 1 และเจ้าของที่ดินคนก่อน ๆ ไม่หวงห้ามหรือสงวนสิทธิใด ๆย่อมถือว่าเป็นการอุทิศให้สาธารณชนได้ใช้ผ่านเข้าออก ทางพิพาทจึงมีฐานะเป็นทางสาธารณะด้วย ต่อมาเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 2โดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 1 นำเสาปูนไปปักลงประมาณกึ่งกลางทางพิพาทและขุดทางพิพาทในส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกโดยเฉลี่ยกว้างประมาณ 1.60 เมตร ทำให้โจทก์ทั้งสองและบุคคลอื่นไม่สามารถใช้ทางพิพาทได้สะดวกเช่นเดิม อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งทางพิพาทลดลงหรือเสื่อมความสะดวกและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนเสาปูนออกจากทางพิพาทดำเนินการให้ทางพิพาทมีสภาพใช้การได้เช่นเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 33998 หากจำเลยที่ 1 ไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสองให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมโจทก์ทั้งสองอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่ขณะเดียวกันก็อ้างว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะด้วย ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถต่อสู้คดีได้ทางพิพาทเป็นคันนากั้นแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 กว้างประมาณ 50 เซนติเมตรเมื่อปี 2532 จำเลยที่ 2 ซึ่งทำนาอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ปรับปรุงสภาพที่นาโดยใช้รถไถดันเอาดินในพื้นนามาเสริมด้านข้างของคันนาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นทางพิพาทกว้างขึ้นอีกโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร ทำให้คันนาเดิมกว้างขึ้นเป็นบางช่วง การเสริมคันนาดังกล่าวทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งสองเองจำเลยทั้งสองอนุญาตและยอมให้โจทก์ทั้งสองอาศัยเดินผ่านไปมาเท่านั้น ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ใช้กระบือลากล้อเลื่อน ใช้รถไถ รถสาลี่บรรทุกข้าว ตลอดจนใช้รถบรรทุกผ่านเข้าออกบนคันนาพิพาทดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง เพียงแต่เมื่อไม่นานมานี้โจทก์ทั้งสองมีรถจักรยานยนต์สามล้อบรรทุกสิ่งของนำออกไปขายโดยขออาศัยจำเลยทั้งสองผ่านคันนาดังกล่าวเท่านั้น ที่จำเลยที่ 2 นำเสาคอนกรีตไปปักหน้าเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 เนื่องจากเสาคอนกรีตเดิมถูกทำลายและเพื่อประโยชน์ในการทำนาของผู้เช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ปรับปรุงสภาพพื้นที่ดินโดยใช้รถไถดันคันนาส่วนฐานล่างแถบริมคันนาด้านทิศใต้ออก ส่วนพื้นผิวคันนาด้านบนยังคงมีอยู่ โดยมีขนาดกว้างเท่ากับคันนาเดิมและตามสภาพเดิม จำเลยที่ 2 มิได้ขุดคันนาซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เป็นส่วนหนึ่งของทางพิพาทออกโดยเฉลี่ยกว้างประมาณ 1.60 เมตรหากฟังว่าคันนาตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองก็มีขนาดความกว้างเพียง 50 เซนติเมตร เท่านั้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 เสริมคันนาเพิ่มขึ้นเมื่อปี 2532 หาตกเป็นทางภาระจำยอมไม่ การใช้คันนาดังกล่าวโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงผู้ขออาศัย จำเลยที่ 1 ไม่เคยยอมให้บุคคลอื่นใช้ล้อเลื่อน รถไถนาหรือรถยนต์ผ่านเข้าออกบนคันนาดังกล่าว และไม่เคยอุทิศคันนานั้นให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น คันนาดังกล่าวจึงไม่ใช่ทางภาระจำยอมหรือทางสาธารณะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันทำทางพิพาทตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19 จากเส้นสีดำซึ่งเป็นแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1ถึงเส้นสีน้ำเงินในตำแหน่งที่ 1, 2 และ 4 กว้าง 1.40 เมตร ส่วนตำแหน่งที่ 3, 5และ 6 กว้าง 2.40 เมตร ให้อยู่ในสภาพใช้การได้เหมือนเดิม และให้รื้อถอนเสาปูนออกไปจากทางพิพาท ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมทางพิพาทในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 33998 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันทำทางพิพาทตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19 จากเส้นสีดำซึ่งเป็นแนวเขตของจำเลยที่ 1ลึกเข้าไปจากแนวเขตดังกล่าวมีความกว้าง 1.25 เมตร ตลอดแนวทางพิพาทที่ติดกับแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ทางทิศตะวันตก และบางส่วนอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทางพิพาทอยู่ด้านทิศเหนือของที่ดินของจำเลยที่ 1บริเวณเขตติดต่อกับที่ดินของบุคคลอื่น โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะทางทิศตะวันตก ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19

วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม เพราะอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม แต่ก็อ้างว่าเป็นทางสาธารณะด้วย เป็นการขัดแย้งกันเอง ทำให้จำเลยทั้งสองหลงต่อสู้นั้น เห็นว่า การบรรยายฟ้องเช่นนี้ก็เพื่อขอบังคับให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาท ส่วนจะเป็นทางภาระจำยอมหรือทางสาธารณะก็สุดแล้วแต่ว่าข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะต้องด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าทางพิพาทเป็นทางชนิดใด คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมไม่

สำหรับโจทก์ทั้งสองที่ฎีกาขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทมีความกว้าง 2.50 เมตร โจทก์ทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้เถียงเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้เป็นยุติ แต่ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19 แสดงชัดว่าทางพิพาทหาได้มีสภาพเป็นเส้นขนานทับแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นโดยล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กันไม่ เพราะบางตอนอาจกินเนื้อที่ของจำเลยที่ 1 น้อยหรือมากแตกต่างกันไปการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันทำทางพิพาทลึกจากแนวเขตเส้นสีดำตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19 เข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 มีความกว้าง 1.25 เมตร ตลอดแนวทางพิพาทจึงไม่ตรงกับแนวทางพิพาทตามที่ปรากฏในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19 และอาจกระทบถึงที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ ส่วนคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็กำหนดแนวเขตชัดเจนเกินไปจนอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากแนวเขตทางพิพาทตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19 ซึ่งคู่ความมิได้โต้เถียงกันถึงความถูกต้องได้ สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันทำทางพิพาทตามแนวเส้นสีน้ำตาลตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.19 เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามรูปแผนที่ดังกล่าว โดยให้ทางพิพาทมีความกว้าง 2.50 เมตร ตลอดแนวทาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share