คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ และคดีนี้มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้าม มิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งแต่จำเลยย่อมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณ เป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไปให้ถือว่าผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย” จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 จำนวน 50 เม็ด น้ำหนักรวม 4.12 กรัม จำเลย จึงน่าจะมีความผิดเพียงฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้นได้ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง ในปริมาณ ซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไป เป็นปริมาณที่ มาก จนกระทั่งกฎหมายเห็นว่า การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองในปริมาณดังกล่าวผู้กระทำ น่าจะมีเจตนามิใช่เพื่อการใช้อย่างปกติทั่วไปคือเพื่อเสพ แต่น่าจะมีเจตนาพิเศษคือเพื่อจำหน่าย กฎหมายจึงสันนิษฐาน โดยให้ถือว่าการกระทำในปริมาณดังกล่าวเป็นการกระทำ โดยมีเจตนาเพื่อจำหน่าย แม้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพียง 4.12 กรัมทั้งมิได้คำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ จะไม่เข้าข้อสันนิษฐานของบทกฎหมายที่ว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายก็ตามแต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นเพราะจำเลย มีเมทแอมเฟตามีนมากถึง 50 เม็ด และมีพฤติการณ์ว่าน่าจะมีไว้เพื่อจำหน่าย ในชั้นสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่ามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำเลยให้การรับสารภาพ และในชั้นพิจารณา ของศาลจำเลยก็ให้การรับสารภาพเช่นเดิมอีก เมื่อศาลชั้นต้น สืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วเชื่อว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงจึงได้ลงโทษตามพยานหลักฐานที่พิจารณาได้ความเช่นนี้ศาลล่างทั้งสองหาได้ลงโทษโดยนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาปรับใช้ไม่ ดังนี้ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 50 เม็ด น้ำหนัก 4.12 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ 3.33 กรัม เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคแรก, 66 วรรคแรก, 67, 102 ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 50 เม็ด น้ำหนักรวม4.12 กรัม จำเลยจึงน่าจะมีความผิดเพียงฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งตามข้อเท็จจริงในคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้แก่ผู้ใด ขอศาลฎีกาลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือรอการลงโทษจำเลยนั้น เห็นว่า ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ในปริมาณซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเป็นปริมาณที่มากจนกระทั่งกฎหมายเห็นว่า การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองในปริมาณดังกล่าวผู้กระทำน่าจะมีเจตนามิใช่เพื่อการใช้อย่างปกติทั่วไปคือเพื่อเสพ แต่น่าจะมีเจตนาพิเศษคือเพื่อจำหน่าย กฎหมายจึงสันนิษฐานโดยให้ถือว่าการกระทำในปริมาณดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อจำหน่าย คดีนี้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพียง 4.12 กรัม ทั้งมิได้คำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์จึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานของบทกฎหมายข้างต้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเป็นเพราะจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนมากถึง 50 เม็ด และมีพฤติการณ์ว่าน่าจะมีไว้เพื่อจำหน่ายในชั้นสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่ามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของศาลจำเลยให้การรับสารภาพเช่นเดิมอีก ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เชื่อว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง จึงได้ลงโทษตามพยานหลักฐานที่พิจารณาได้ความ หาได้ลงโทษโดยนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาปรับใช้แต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share