คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน1,000,000 บาท เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่โจทก์ผู้ให้กู้จะเรียกร้องให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมด หรือบางส่วนเมื่อใดก็ได้ ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร หลังจาก ทำสัญญาแล้วมีการเพิ่มและลดวงเงินหลายครั้ง รวมวงเงิน ที่อนุมัติ 3,000,000 บาท กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือนแม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยจะไม่มี กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาก็ตาม แต่เมื่อมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537แล้ว วงเงินค้างชำระเกิน 3,000,000 บาท โจทก์จึงได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้เบิกเงินจากบัญชีอีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาประสงค์ให้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 นั่นเอง แม้หลังจากนั้นจำเลยจะนำเงินเข้าบัญชีอีก 2 ครั้ง ก็เป็นการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ มิได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันตามปรกติ อีกโจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้เพียงวันที่ 31กรกฎาคม 2537 เท่านั้น และหากในขณะสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราใด หลังจากเลิกสัญญาแล้วโจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเท่านั้น เพราะเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดที่พึงเรียกเก็บตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ต่อมามีการเพิ่มและลดวงเงินหลายครั้ง และได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 93707 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเริ่มเป็นหนี้โจทก์เรื่อยมาจนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2541 วันสิ้นสุดบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์6,326,067.33 บาท นับถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์6,519,466.79 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,519,466.79 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ของต้นเงิน6,341,470.33 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,464,506.63 บาท และเงินเบี้ยประกันภัยจำนวน 15,403 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.50 ต่อปี เฉพาะของต้นเงินจำนวนแรกดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้องนำเงินที่จำเลยผ่อนชำระแก่โจทก์ครั้งละ 48,650 บาท รวม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 และวันที่ 30 กันยายน 2537 หักออกจากดอกเบี้ยหรือเงินต้นแล้วแต่กรณีของหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ณ วันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ให้แก่จำเลยเสียก่อนด้วย หากไม่ชำระให้บังคับเอาจากทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นตามลำดับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงเมื่อใด ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 1,000,000 บาท เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแต่ผู้ให้กู้จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนเมื่อใดก็ได้ ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร หลังจากทำสัญญาแล้วมีการเพิ่มและลดวงเงินหลายครั้ง รวมวงเงินที่อนุมัติ 3,000,000บาท กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือน โจทก์จะทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อหักทอนบัญชีแล้วจำเลยค้างชำระเกินวงเงิน 3,000,000บาท ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2537 หักทอนบัญชีแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์3,464,506.63 บาท หลังจากนั้นจำเลยนำเงินเข้าบัญชีอีกเพียง2 ครั้ง คือในวันที่ 31 สิงหาคม 2537 และวันที่ 30 กันยายน 2537ครั้งละ 48,650 บาท เห็นว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยจะไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาก็ตาม แต่เมื่อมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 แล้ว วงเงินค้างชำระเกิน3,000,000 บาท โจทก์จึงได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้เบิกเงินจากบัญชีอีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาประสงค์ให้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537นั่นเอง แม้หลังจากนั้นจำเลยจะนำเงินเข้าบัญชีอีก 2 ครั้งก็เป็นการชำระหนี้ที่ค้างอยู่มิได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันตามปรกติ อีก โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้เพียงวันที่31 กรกฎาคม 2537 เท่านั้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่22 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ตามอุทธรณ์โจทก์ไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อมาว่า หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามอัตราที่เพิ่มขึ้นได้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เห็นว่า หากในขณะสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราใด หลังจากเลิกสัญญาแล้วโจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเท่านั้นเพราะเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่พึงเรียกเก็บตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกไม่ได้
พิพากษายืน

Share