แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความชั้นพิจารณาว่าจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ลักทรัพย์ขัดต่อเหตุผล เห็นเจตนาได้ชัดว่าเบิกความช่วยเหลือจำเลยมิให้รับโทษศาลย่อมฟังข้อเท็จจริงตามคำให้การโจทก์ดังกล่าวในชั้นสอบสวนซึ่งสมเหตุผลยิ่งกว่าได้ แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยกระทำผิด แต่ จำเลยให้การรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนนำชี้ที่เกิดเหตุแสดงการลักทรัพย์ประกอบกับคำพยานและพฤติการณ์แวดล้อมแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักยางพาราซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกสิกรรม มิได้กล่าวในฟ้องว่า เป็นยางพาราของเจ้าทรัพย์ผู้มีอาชีพกสิกรรมขาดองค์ประกอบ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) จึงลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335(1)(8)(12), 336 ทวิ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 960 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1131/2540 และ 1132/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8)(12) วรรคสาม, 336 ทวิ จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 960 บาท แก่ผู้เสียหายนับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 950/2541 และ 951/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 720 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องมีคนร้ายลักยางพารา 20 แผ่น ของผู้เสียหายไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่ผู้เสียหายแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งนายอาแช มามะ ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าพนักงานตำรวจและนายอาแซสืบสวนทราบว่าจำเลยกับนายอัมตอเลาะ นิยาหรือปียา และ นายมะ ไม่ทราบนามสกุล ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยใช้รถยนต์กระบะของนายลาลิ เปาะและ เป็นยานพาหนะ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้โดยโจทก์มีสิบตำรวจเอกคำนึง สมุทรจินดา เป็นพยานว่าจับจำเลยตามหมายจับ จำเลยวิ่งหนีแต่หนีไม่พ้น จำเลยรับสารภาพว่าลักยางพาราผู้เสียหาย ตามหลักฐานบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.14 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุ โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโทฎีกาวุฒิ จุลถาวรและร้อยตำรวจเอกสมพล แก่งกระจาย พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยรับสารภาพโดยสมัครใจ มีเอกสารบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนจำเลย บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 เป็นหลักฐาน ข้อเท็จจริงตามที่สืบสวนทราบว่า จำเลยกับพวกใช้รถยนต์กระบะของนายลาลิเป็นยานพาหนะในการลักทรัพย์ ตรงตามที่จำเลยให้การรับสารภาพ ทั้งนายอาแซผู้ใหญ่บ้านยังยึดรถยนต์กระบะคันนี้มอบให้พนักงานสอบสวนเป็นของกลาง นายลาลิพยานโจทก์เบิกความว่านายอัมตอเลาะเป็นน้องของภริยา เป็นคนนำรถยนต์กระบะของพยานไปทั้งนายลาลิและนายอาแซให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยและนายอัมตอเลาะยอมรับกับพยานทั้งสองว่าลักยางพาราของผู้เสียหาย จะใช้ค่าเสียหายให้และให้การว่านายอาแซเป็นคนยึดรถยนต์กระบะ การที่พยานโจทก์ทั้งสองคนนี้เบิกความชั้นพิจารณาว่า จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ลักทรัพย์ ขัดต่อเหตุผลหากเป็นความจริงแล้ว ในชั้นแรกจะให้การต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้นได้อย่างไร และจะยึดรถยนต์นั้นมาด้วยเหตุใดเห็นเจตนาได้ชัดว่า เบิกความช่วยเหลือจำเลยมิให้รับโทษศาลฟังข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนซึ่งสมเหตุผลยิ่งกว่าได้คดีนี้แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยกระทำผิดแต่จำเลยให้การรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน นำชี้ที่เกิดเหตุแสดงการลักทรัพย์ประกอบกับคำพยานและพฤติการณ์แวดล้อมแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายแต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) ด้วยนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักยางพาราซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกสิกรรมมิได้กล่าวในฟ้องว่า เป็นยางพาราของเจ้าทรัพย์ผู้มีอาชีพกสิกรรมขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) จะลงโทษตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวินอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3