แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ตามข้อกำหนดพินัยกรรมมิได้ระบุให้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินต่อเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็ระบุให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินได้ชั่วชีวิตของโจทก์ สิทธิอยู่อาศัยดังกล่าวจึงเป็นสิทธิเหนือพื้นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1410 และเป็นทรัพยสิทธิซึ่งโจทก์ได้รับมาตามพินัยกรรมโดยชอบ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ได้เพื่อให้โจทก์ มีสิทธิบริบูรณ์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดก โดยการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะฟ้องคดีพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม แต่เมื่อโจทก์ได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดิน ซึ่งโจทก์มีสิทธิอาศัยได้ชั่วชีวิตโจทก์ตามข้อกำหนดพินัยกรรมอยู่ก่อนเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมและถึงแก่ความตาย แม้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมแล้วก็ตามแต่เมื่อโจทก์ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน จึงเปรียบได้เสมือนหนึ่งว่าโจทก์ในฐานะทายาทตามพินัยกรรมได้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน จึงมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ โดยฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปีแล้ว โดยปรับเข้ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 ได้ และ ไม่ถือว่าเป็นการขัดแย้งกับมาตรา 1754 เพราะมาตรา 1748 เป็นบทมาตราข้อยกเว้นที่จะใช้บังคับตามมาตรา 1754 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนไว้ด้วย แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้มีคำสั่ง ในส่วนนี้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโดยตรง ศาลฎีกา ก็แก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางทวีสุข สุคนธชาติหรือสุคนธะชาติเจ้ามรดก ซึ่งได้ทำพินัยกรรมให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินของเจ้ามรดกได้ชั่วชีวิตของโจทก์ ต่อมาเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมจำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อรู้ถึงสิทธิตามพินัยกรรมคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจัดการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน โฉนดที่ดินเลขที่ 11222 แขวงรองเมือง เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 80/28 ให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนี้ทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 80/28 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่11222 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ของนางทวีสุข สุคนธชาติหรือสุคนธะชาติ โดยนางทวีสุข เจ้าของที่ดินอนุญาตให้โจทก์ปลูก ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2530นางทวีสุข เจ้าของที่ดินได้ถึงแก่ความตาย และวันที่ 7 มีนาคม 2531จำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางทวีสุขเจ้ามรดกตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ก่อนนางทวีสุขเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่7 สิงหาคม 2530 นางทวีสุขเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2530 ข้อ 10 ระบุว่า สำหรับโจทก์ซึ่งได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 11222 แขวงรองเมืองเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ผู้ทำพินัยกรรมอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยได้ชั่วชีวิตของโจทก์ ครั้นเมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว จึงให้ผู้จัดการมรดกมอบเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทของโจทก์เพื่อช่วยเหลือในการรื้อถอนย้ายบ้านดังกล่าวตามข้อนี้ออกไปจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 11222 ไปอยู่ ณ ที่อื่นตามที่ประสงค์ต่อไป ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.5
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องจดทะเบียนสิทธิอาศัย เนื่องจากโจทก์ขอสละข้อกำหนดพินัยกรรมแล้ว คงมีข้อโต้แย้งกันอยู่ที่ระยะเวลาทำการรื้อถอนบ้านโจทก์เท่านั้น ตามเอกสารหมาย จ.1 ล.1 ล.2 และ ล.5 เห็นว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงตามร่างสัญญาเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต เนื่องจากยังไม่มีการตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนบ้าน กรณีเช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้สละมรดกตามพินัยกรรมแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยต้องจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์หรือไม่ในปัญหานี้ แม้ตามข้อกำหนดพินัยกรรมมิได้ระบุให้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินต่อเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมระบุให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินได้ชั่วชีวิตของโจทก์นั้น สิทธิอยู่อาศัยดังระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นสิทธิเหนือพื้นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1410 และสิทธิเหนือพื้นดินเป็นทรัพยสิทธิ ซึ่งโจทก์ได้รับมาตามพินัยกรรมโดยชอบโจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางทวีสุขดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ได้เพื่อให้โจทก์มีสิทธิบริบูรณ์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดก โดยการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดิน ซึ่งโจทก์มีสิทธิอาศัยได้ชั่วชีวิตโจทก์ตามข้อกำหนดพินัยกรรมอยู่ก่อนที่นาง ทวีสุขเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมและถึงแก่ความตาย แม้จะได้ความในเวลาต่อมาว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าโจทก์ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.4 กรณีเช่นนี้จึงเปรียบได้เสมือนหนึ่งว่า โจทก์ในฐานะทายาทตามพินัยกรรมได้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน โจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้โดยฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปีแล้ว โดยปรับเข้ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 ได้และไม่ถือว่าเป็นการขัดแย้งกับ มาตรา 1754 เพราะมาตรา 1748 เป็นบทมาตราข้อยกเว้นที่จะใช้บังคับตามมาตรา 1754 คดีโจทก์ จึงไม่ขาดอายุความ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
อนึ่งตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนไว้ด้วย แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้มีคำสั่งในส่วนนี้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโดยตรง ศาลฎีกาก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์