คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำผิดฐานรับของโจร เมื่อปรากฏตามคำแถลงของผู้เสียหายว่า จำเลยเป็นญาติกับผู้เสียหาย แสดงว่าเป็นเรื่องภายในเครือญาติกัน พฤติการณ์แห่งคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรงและผู้เสียหายแถลงว่าได้รับทรัพย์ของกลางคืนแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นหญิงอายุมากถึง 59 ปีแล้วและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุอันควรปรานี สมควรกำหนดโทษและรอการลงโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 335, 357
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีมาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39(2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 ศาลชั้นต้นจึงจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 (ที่ถูกมาตรา 357 วรรคหนึ่ง) ลงโทษจำคุก 1 ปีและปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษหนักขึ้นและไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 71 และศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีส่วนของจำเลยที่ 1จากสารบบความแล้ว เมื่อปรากฏตามคำแถลงของผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 2ก็เป็นญาติกับผู้เสียหาย แสดงว่าเป็นเรื่องภายในเครือญาติกันพฤติการณ์แห่งคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรงนัก และผู้เสียหายแถลงด้วยว่าได้รับทรัพย์ของกลางคืนแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไป อีกทั้งจำเลยที่ 2 เป็นหญิงมีอายุมากถึง 59 ปีแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุอันควรปรานี สมควรกำหนดโทษและรอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นั้น สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share