คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลแพ่งและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วทำให้หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลซึ่งพิจารณาคดีนี้มีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามา ฟ้องย่อมระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)สาขาสำนักพหลโยธิน จำนวนเงิน 2,154,926 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อเพชรจากโจทก์เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขแดงที่ 1995/2540ของศาลแพ่ง และศาลแพ่งพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วทำให้หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share