คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2541เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรม กล่าวคือ (ก) จำเลยซึ่งประกอบอาชีพค้าขายสินค้าทั่วไป ได้ขาย เสนอขายเพื่อการค้า หากำไรซึ่งตุ๊กตากล้วยหอมบี 1 จำนวน 1 ตัว ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประยุกต์ ตัวแสดงในภาพยนตร์ชุด”บานาน่าส์อินพิจามัส”ที่มีผู้ทำขึ้นโดยดัดแปลงทำเป็นหุ่นเหมือนตัวแสดงในภาพยนตร์ชุด “บานาน่าส์อินพิจามัส”โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานศิลปกรรมประยุกต์ ดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1(ข) จำเลยซึ่งประกอบ อาชีพค้าขายสินค้าทั่วไป ได้ขายเสนอขายเพื่อการค้าหากำไร ซึ่งตุ๊กตาเครยองชินจัง จำนวน 1 ตัว ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประยุกต์ ตัวแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด”เครยองชินจัง”ที่มีผู้อื่นทำขึ้นโดยดัดแปลงทำเป็นหุ่นเหมือนตัวแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์ “เครยองชินจัง”โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานศิลปกรรมประยุกต์ ดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 ตามคำฟ้อง ของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏรายละเอียดให้เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก)และข้อ(ข)ต่างหากจากกันอย่างไร เช่น มีการขาย เสนอขายแก่ผู้ซื้อต่างคราวกันหรือต่างรายกันอย่างใดหรือไม่หรือโจทก์เห็นว่าการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดต่างกรรมกันเพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้นลำพังการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายกันไม่แน่ว่าจะต้องเป็นการกระทำผิดต่างกรรมกันเสมอไปหากแต่ต้องพิจารณาเจตนาในการกระทำผิดว่าต่างกันหรือไม่เป็นสำคัญ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องแต่เมื่อคำฟ้องไม่ปรากฏชัดเจนว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ (ก)และข้อ(ข) โดยเจตนาต่างหากจากกันดังกล่าว จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องดังกล่าวในลักษณะที่มีเจตนาเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ตุ๊กตาของกลาง 2 ตัว ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายค่าปรับแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31,70 วรรคสอง ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ปรับ 50,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 25,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งให้เจ้าของลิขสิทธิ์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าเป็นสองกรรม จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงถือว่าจำเลยกระทำผิดสองกรรม ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ (ก) จำเลยซึ่งประกอบอาชีพค้าขายสินค้าทั่วไป ได้ขาย เสนอขายเพื่อการค้าหากำไรซึ่งตุ๊กตากล้วยหอมบี 1 จำนวน 1 ตัว ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประยุกต์ตัวแสดงในภาพยนตร์ชุด “บานาน่าส์อินพิจามัส”ที่มีผู้ทำขึ้นโดยดัดแปลงทำเป็นหุ่นเหมือนตัวแสดงในภาพยนตร์ชุด”บานาน่าส์อินพิจามัส” โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานศิลปกรรมประยุกต์ ดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 (ข) จำเลยซึ่งประกอบอาชีพค้าขายสินค้าทั่วไป ได้ขาย เสนอขายเพื่อการค้าหากำไรซึ่งตุ๊กตาเครยองชินจัง จำนวน 1 ตัว ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประยุกต์ ตัวแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด “เครยองชินจัง” ที่มีผู้อื่นทำขึ้น โดยดัดแปลงทำเป็นหุ่นเหมือนตัวแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์ “เครยองชินจัง” โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 ทั้งนี้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานศิลปกรรมประยุกต์ดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 เหตุตามฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ข) เกิดที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยตุ๊กตากล้วยหอมบี 1 จำนวน 1 ตัว และตุ๊กตาเครยองชินจัง จำนวน 1 ตัว ที่จำเลยได้ขายเสนอขายดังกล่าวเป็นของกลางตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ไม่ปรากฏรายละเอียดให้เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ (ก) และข้อ (ข) ต่างหากจากกันอย่างไร เช่น มีการขาย เสนอขายแก่ผู้ซื้อต่างคราวกันหรือต่างรายกันอย่างใดหรือไม่ หรือโจทก์เห็นว่าการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดต่างกรรมกันเพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้นซึ่งลำพังการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายกันไม่แน่ว่าจะต้องเป็นการกระทำผิดต่างกรรมกันเสมอไป หากแต่ต้องพิจารณาเจตนาในการกระทำผิดว่าต่างกันหรือไม่เป็นสำคัญดังนั้นแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เมื่อคำฟ้องไม่ปรากฏชัดเจนว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ (ก) และข้อ (ข) โดยเจตนาต่างหากจากกันดังกล่าว จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องดังกล่าวในลักษณะที่มีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน
พิพากษายืน

Share