แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิด แม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นเป็น 60,000 บาท ก็ไม่ทำให้หลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิม และมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไปจำเลยต้องรับผิดเท่าที่กู้ไปจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปแล้วไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 65,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 30,000 บาทโจทก์แก้ไขจำนวนเงินเป็น 60,000 บาท โดยจำเลยมิได้ยินยอมสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม เป็นโมฆะจำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในข้อกฎหมายประการเดียวว่าหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องได้ตามกฎหมายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนไว้แล้วว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ยืมเงินจากโจทก์ 30,000 บาท โจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญาเป็น 60,000 บาท โดยไม่เป็นความจริงสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นเอกสารปลอมแล้วนำสัญญามาฟ้อง ข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ เห็นว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิดแม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นไม่ทำให้หลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไปศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดเท่าที่กู้ไปจริงชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน