คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้ คดีตั้งแต่แรกในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ ทนายความ ของจำเลยที่ 3 ก็มาศาลโดยสม่ำเสมอโดยมิได้ทอดทิ้งคดี ครั้นถึงวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลย ทนายความ ของจำเลยที่ 3 ไม่มาศาล แต่ศาลชั้นต้นก็คงให้สืบพยาน เฉพาะของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แล้วมีคำสั่งให้เลื่อนไป นัดสืบพยานจำเลยที่ 3 แต่ปรากฏว่าทนายความจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมเสียก่อนถึงวันนัด จำเลยที่ 3 และทนายความ ของจำเลยที่ 3 ต่างมีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานที่แน่นอน ดังนั้นการแจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ให้ฝ่าย จำเลยที่ 3 ทราบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งหมายนัดไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 3 หรือของทนายความของจำเลยที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นการส่ง โดยวิธีธรรมดาก่อน ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 บัญญัติไว้ ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศ แจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ไว้ที่หน้าศาล เพื่อให้จำเลยที่ 3 ทราบแทนนั้น จึงเป็นการกระทำ ที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 การประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 3 ทราบไม่ชอบอันมีผลทำให้กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่กระทำภายหลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย อีกทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 แล้ว ประกอบกับเพื่อ ที่จะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม การที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ 3 แล้วพิพากษา คดีใหม่ต่อไป จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27บัญญัติให้อำนาจไว้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 2,382,338 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า นายประยงค์ ใจเมือง ทนายความจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2539 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ทนายความจำเลยที่ 3 ไม่ได้ไปศาลเพราะเป็นวันนัดหลังจากที่ทนายความจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งให้ถือว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ทำให้จำเลยที่ 3 แพ้คดีกระบวนพิจารณาที่ศาลสั่งว่า จำเลยที่ 3 ไม่ติดใจสืบพยานคำพิพากษา และคำบังคับที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและผิดระเบียบ ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ 3 ใหม่แล้วพิพากษาคดีใหม่ต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีตั้งแต่แรก และในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ ทนายความของจำเลยที่ 3 ก็มาศาลโดยสม่ำเสมอ พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าฝ่ายจำเลยที่ 3 คงไม่ทอดทิ้งคดีของตนครั้นถึงวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2539 ทนายความของจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลแต่ศาลชั้นต้นก็ให้สืบพยานของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แล้วมีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยที่ 3 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 เวลา 8.30 นาฬิกาแต่ปรากฏว่าทนายความจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2539 ด้วยพฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ ประกอบกับจำเลยที่ 3 และทนายความของจำเลยที่ 3 ต่างมีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานที่แน่นอน ดังนั้น การแจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ให้ฝ่ายจำเลยที่ 3 ทราบนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งหมายนัดไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 3 หรือของทนายความของจำเลยที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นการส่งโดยวิธีธรรมดาก่อน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศแจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ไว้ที่หน้าศาลเพื่อให้จำเลยที่ 3ทราบแทนนั้น จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายเพราะจะกระทำเช่นนี้ได้ต่อเมื่อไม่สามารถส่งหมายนัดให้ได้โดยวิธีธรรมดาดังกล่าวก่อน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 บัญญัติไว้ ทำให้การประกาศแจ้งวันนัดดังกล่าวไม่ชอบ อันมีผลทำให้กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่กระทำภายหลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วยอีกทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 แล้ว ประกอบกับเพื่อที่จะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ 3 แล้วพิพากษาคดีใหม่ต่อไปจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติให้อำนาจไว้
พิพากษายืน

Share