คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุผลจำเป็นนอกเหนือไปจาก 5 ประการ ดังกล่าวแล้วจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและอยู่ระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไม่ได้โดยไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนความจำเป็น ของนายจ้างประการอื่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้เสียเลย ดังนี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องประสบกับการขาดทุน มีหนี้สินมากมายจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างปกติ กิจการหยุดชะงักงันโดยสิ้นเชิงจนต้องยุบหน่วยงานหรือ เลิกกิจการแล้วจะให้นายจ้างจ้างลูกจ้างอยู่ตลอดไปจนนายจ้าง ประสบความหายนะ หรือล้มละลายย่อมเป็นไปไม่ได้ หากเป็นกรณี ที่มีเหตุเพียงพอและเป็นการสมควรและมิใช่เป็นการกลั่นแกล้ง อันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าว แล้วนายจ้างย่อมกระทำได้ คดีนี้ถึงหากโจทก์ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจถดถอยทำให้โจทก์ มีผลกำไรจากการประกอบการลดลงและมีกำลังคนล้นงาน โจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายป้องกันมิให้นายจ้างต้องขาดทุนในภายหน้าก็ตาม แต่การดำเนินการของโจทก์ยังมีกำไรอยู่ หาได้ประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการอันใดต่อไปได้ถึงกับต้องยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วยหรือเลิกกิจการไปไม่ เมื่อเป็นเพียงการคาดหมายของโจทก์เพื่อป้องกันการขาดทุนในภายหน้าเท่านั้น การดำเนินกิจการของโจทก์ต่อไปอาจไม่ประสบภาวะการขาดทุนก็เป็นได้ การที่โจทก์แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเลิกจ้างลูกจ้าง บางคนในหน่วยงานหรือยุบหน่วยงานบางหน่วยบ้างที่ไม่จำเป็นเพื่อ ลดค่าใช้จ่าย โดยถือหลักเกณฑ์การคัดเลือกในการเลิกจ้าง นำมาใช้กับ ส. ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของโจทก์และอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยไม่เลือกใช้วิธีการอย่างอื่นนั้น ยังไม่เป็นเหตุผลอันเพียงพอและสมควรจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 362-363/2541 ของจำเลยทั้งแปด
จำเลยทั้งแปดทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์เลิกจ้างนายสมชายและนางสมพร เพราะเพียงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและกระทบกระเทือนสถานะของโจทก์ ลูกจ้างทั้งสองของโจทก์ดังกล่าวเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของโจทก์ และถูกเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับการเลิกจ้างดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคำวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลยทั้งแปดถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในวันสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่านายสมชาย สุขสำราญ และนางสมพร อณุกานนท์ เป็นลูกจ้างของโจทก์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานสยามแซ็กเซิล โจทก์ได้เลิกจ้างนายสมชายและนางสมพรในขณะที่ยังเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นพิพาทเพียงข้อเดียวว่าเนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมีผลกำไรจากการประกอบการลดลงตามลำดับและมีกำลังคนล้นงานโจทก์ในฐานะนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายป้องกันมิให้นายจ้างต้องขาดทุนในภายหน้า จะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างโดยดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่แน่นอนหาได้เลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างคนใดคนหนึ่งไม่ และได้กระทำตามความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานะของโจทก์ซึ่งโจทก์จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายลง แม้โจทก์ยังไม่ประสบการขาดทุนในขณะนี้แต่ก็เป็นที่น่าวิตกจึงต้องเตรียมรับสถานการณ์ไว้ เป็นการกระทำตามความจำเป็นเพื่อพยุงฐานะของโจทก์การที่โจทก์ต้องลดการผลิตเพราะผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ลดลง ทำให้เงินทุนของโจทก์ลดลงตามไปด้วย โจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนตามฟ้องเพื่อความเหมาะสมการที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานกลางยึดหลักเกณฑ์วินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ยังไม่ประสบการขาดทุนจะเลิกจ้างลูกจ้าง มิได้หาอาจนำมาใช้กับโจทก์ได้ไม่เพราะตามมาตรา 123 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มุ่งคุ้มครองนายจ้างมิให้กลั่นแกล้งลูกจ้าง จึงกำหนดเหตุเลิกจ้างไว้5 ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจาก5 ประการแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับไม่ได้โดยไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพเศรษฐกิจและความอยู่รอดของนายจ้าง เมื่อโจทก์ประสบภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอยอันไม่น่าไว้วางใจ โจทก์จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และลดกำลังคนบางส่วนลงให้เหมาะสมแก่งานการผลิตที่ลดลงด้วยการเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนลงรวมทั้งนายสมชายและนางสมพร โดยโจทก์จ่ายค่าชดเชยและเงินอื่น ๆให้ลูกจ้างตามกฎหมายแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กลั่นแกล้งลูกจ้างอันจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าตามมาตรา 123 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518เป็นบทบัญญัติอยู่ในหมวด 9 การกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งห้ามมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบลูกจ้างผู้แทนลูกจ้างกรรมการ อนุกรรมการสมาชิกสหภาพแรงงาน กรรมการอนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับแม้จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุผลจำเป็นนอกเหนือไปจาก 5 ประการ ดังกล่าวแล้วจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไม่ได้ โดยไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนความจำเป็นของนายจ้าง ประการอื่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้เสียเลย ดังเช่น ในกรณีนายจ้างต้องประสบกับการขาดทุนมีหนี้สินมากมายจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างปกติ กิจการหยุดชะงักงันโดยสิ้นเชิงจนต้องยุบหน่วยงานหรือเลิกกิจการแล้วจะให้นายจ้างจ้างลูกจ้างอยู่ตลอดไปจนนายจ้างประสบความหายนะหรือล้มละลายย่อมเป็นไปไม่ได้ กรณีที่มีเหตุเพียงพอและเป็นการสมควรและมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งอันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าวแล้วนายจ้างย่อมกระทำได้
สำหรับคดีนี้ถึงหากโจทก์ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจถดถอยทำให้โจทก์มีผลกำไรจากการประกอบการลดลงและมีกำลังคนล้นงาน โจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายป้องกันมิให้นายจ้างต้องขาดทุนในภายหน้าก็ตามแต่การดำเนินการของโจทก์ยังมีกำไรอยู่ หาได้ประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการอันใดต่อไปได้ถึงกับต้องยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วยหรือเลิกกิจการไปไม่เป็นเพียงการคาดหมายของโจทก์เพื่อป้องกันการขาดทุนในภายหน้าเท่านั้น การดำเนินกิจการของโจทก์ต่อไปอาจไม่ประสบภาวะการขาดทุนก็เป็นได้ การที่โจทก์แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเลิกจ้างลูกจ้างบางคนในหน่วยงานหรือยุบหน่วยงานบางหน่วยบ้างที่ไม่จำเป็นเช่นหน่วยงานของนายสมชายเพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยถือหลักเกณฑ์การคัดเลือกในการเลิกจ้างนำมาใช้กับนายสมชายและนางสมพรซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของโจทก์และอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยไม่เลือกใช้วิธีการอย่างอื่นนั้น ยังไม่เป็นเหตุผลอันเพียงพอและสมควร การที่โจทก์เลิกจ้างนายสมชายและนางสมพรจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน

Share