คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7340/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดข้อพิพาท พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ที่กำหนดว่าเมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบ แล้ว นับแต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญา รับขนนั้นย่อมตกแก่ผู้รับตราส่ง แสดงให้เห็นว่าสัญญารับขน มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกถ้อยคำที่ว่า “เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่ง” มีความหมายเป็นเพียงเวลาที่กฎหมายกำหนดว่าผู้รับตราส่งจะแสดงเจตนารับเอาประโยชน์จากสัญญารับขนได้เมื่อใดเท่านั้น หาใช่เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งซึ่งหากไม่มีของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งแล้วจะเป็นเหตุ ให้สิทธิตามสัญญารับขนไม่ตกแก่ผู้รับตราส่งไม่ เมื่อโจทก์เป็น ผู้ทรงใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ผู้ขายและเป็นผู้มี กรรมสิทธิ์ในสินค้าพิพาทตามใบตราส่งนั้น แม้โจทก์ไม่อาจ แสดงเจตนารับเอาประโยชน์จากสัญญารับขนโดยเรียกให้ส่งมอบ ของได้เพราะไม่มีกำหนดเวลาที่จะเรียกให้ส่งมอบของได้ ตามมาตรา 627 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย เพราะเหตุที่สินค้าพิพาทต้องสูญหายเนื่องจากการขนส่งนั้น โดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิตามสัญญารับขนสินค้าพิพาทย่อม มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาท ให้รับผิดตามสัญญารับขนได้ เมื่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มีผลใช้บังคับในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับกรณีจึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขน อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทปรับแก่คดีไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งของทางทะเลตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเลฯมาปรับแก่คดีได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจยกเอาข้อจำกัดความรับผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวมาอ้างเพื่อให้รับผิดน้อยลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 378,243.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 351,854.04 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลร่วมกับผู้ขนส่งสินค้าในต่างประเทศและไม่เคยทำการขนส่งเองจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยอื่นทำการขนส่งสินค้าในคดีนี้จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการเป็นตัวแทนด้านพิธีการเอกสารให้แก่เจ้าของเรือหรือสายการเดินเรือ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างของสายการเดินเรืออาวันเดโร เพื่อดำเนินการพิธีการทางศุลกากรแจ้งการมาถึงของสินค้าให้โจทก์ทราบ และให้โจทก์นำใบตราส่งมาแลกกับใบปล่อยสินค้า ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือขนส่งสินค้าเท่านั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ร่วมกันขนส่งสินค้า และมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้าดังกล่าว สินค้ายังส่งมาไม่ถึงประเทศไทยสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนยังไม่โอนมายังโจทก์โจทก์ยังไม่มีสิทธิในสินค้า สินค้ามีค่าไม่ถึงจำนวน 200,000 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 2จะต้องร่วมรับผิด ก็รับผิดไม่เกินจำนวน 15,300 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้าจากประเทศสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 2 มิได้บรรจุสินค้าในคดีนี้เข้าตู้บรรจุสินค้ามาด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ หากจะต้องรับผิดก็ต้องรับผิดไม่เกิน 15,300 บาทตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2535 มาตรา 58ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 347,654.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2535 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1และที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1ดังกล่าวข้างต้นว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวเป็นวัตถุประสงค์หลักของบริษัทจำเลยที่ 1เพราะได้ระบุไว้เป็นข้อแรกในวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดรวม 10 ข้อ จำเลยที่ 1 นอกจากจะมีหน้าที่แจ้งเวลามาถึงของเรือให้โจทก์ผู้รับตราส่งทราบและรับแลกใบตราส่งกับใบปล่อยสินค้าจากโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ยังรับจะเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากสินค้าพิพาทสูญหายจากสายการเดินเรือที่ขนส่งให้แทนโจทก์และเป็นผู้รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าพิพาทจากโจทก์ด้วยซึ่งข้อนี้ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินค่าระวางบรรทุกเอกสารหมาย จ.17 ที่จำเลยที่ 1 รับชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าพิพาทรวมกับค่าระวางบรรทุกสินค้ารายการอื่นของโจทก์จากโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 รับชำระไว้ในนามตนเองโดยมิได้ระบุว่าเป็นการรับชำระไว้แทนจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบแต่อย่างใดจากวัตถุประสงค์หลักของบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับขนส่งสินค้าพิพาทดังกล่าวมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 2 ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทให้รับผิดตามสัญญารับขนสินค้าดังกล่าวหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ดังกล่าวมาข้างต้นว่า โจทก์ซื้อชิ้นส่วนอะไหล่จากบริษัทผู้ขายในประเทศอิตาลี ในราคา FOB ท่าเรืออิตาลีจำนวน 13,326.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยจำนวน345,570.04 บาท ผู้ขายได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวมายังประเทศไทย โดยจะเก็บค่าระวางบรรทุกสินค้าที่ปลายทาง จำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ขาย ต่อมาโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าแก่ผู้ขายผ่านทางธนาคาร และได้รับโอนใบตราส่งมา เมื่อเรือมาถึงท่าเรือกรุงเทพโจทก์ได้รับแจ้งว่าเรือมาถึง จึงได้ชำระค่าระวางบรรทุกสินค้าแล้วแต่รับสินค้าไม่ได้เนื่องจากสินค้าสูญหายทั้งหมดโดยมีการส่งผิดพลาดไปที่ประเทศฟิลิปปินส์ อันเป็นกรณีสินค้าดังกล่าวสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง และที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงใบตราส่งและมีกรรมสิทธิ์ในสินค้าตามใบตราส่งนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงใบตราส่งและมีกรรมสิทธิ์ในสินค้าตามใบตราส่งนั้นสำหรับปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าในพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวหากสินค้าพิพาทได้สูญหายหรือเสียหายไปทั้งหมดหรือบางส่วนระหว่างการขนส่ง โจทก์ย่อมเป็นผู้รับบาปเคราะห์ในความสูญหายหรือเสียหายนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่คู่สัญญารับขนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรงโจทก์ผู้รับตราส่งจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่สัญญารับขนได้ก็ต่อเมื่อสินค้าถูกขนส่งถึงท่าเรือกรุงเทพอันเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่ง และโจทก์ได้เรียกร้องให้ส่งมอบสินค้าแล้วเท่านั้นแต่สินค้ามิได้ถูกส่งถึงท่าเรือกรุงเทพเพราะสูญหายไปเสียก่อนในระหว่างการขนส่ง โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้ จำเลยที่ 1และที่ 2 ผู้รับขนส่งส่งมอบสินค้าได้และสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนจึงไม่อาจตกไปได้แก่โจทก์ผู้รับตราส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญารับขนนั้น เห็นว่าขณะเกิดข้อพิพาทพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับจึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ซึ่งบัญญัติว่า”เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว ท่านว่าแต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่ง” บทบัญญัติมาตรานี้แสดงให้เห็นว่าสัญญารับขนมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกกล่าวคือ แม้ผู้รับตราส่งจะเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่สัญญาตามสัญญารับขน แต่หากผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบของเมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งอันเป็นการแสดงเจตนาที่จะรับเอาประโยชน์ตามสัญญารับขนแล้ว สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกได้แก่ผู้รับตราส่ง หากผู้รับตราส่งยังมิได้เรียกให้ส่งมอบของเมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งหรือแสดงเจตนาที่จะรับเอาประโยชน์ตามสัญญารับขน ผู้รับตราส่งย่อมไม่มีสิทธิตามสัญญารับขนซึ่งรวมถึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพราะของสูญหายทั้งหมดหรือสูญหายบางส่วนหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่งจากผู้ขนส่งด้วยดังนี้ เงื่อนไขที่จะทำให้สิทธิทั้งหลายตามสัญญารับขนตกได้แก่ผู้รับตราส่งจึงมีเพียงประการเดียวคือเมื่อผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบของเมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งหรือเมื่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาที่จะรับเอาประโยชน์ตามสัญญารับขนแล้วนั่นเองที่มาตรา 627 บัญญัติว่า “เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่ง”จึงมีความหมายเป็นเพียงเวลาที่กฎหมายกำหนดว่าผู้รับตราส่งจะแสดงเจตนารับเอาประโยชน์จากสัญญารับขนได้เมื่อใดเท่านั้นหาใช่เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งซึ่งหากไม่มีของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งแล้วจะเป็นเหตุให้สิทธิตามสัญญารับขนไม่ตกได้แก่ผู้รับตราส่งไม่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสินค้าพิพาทสูญหายไปทั้งหมดในระหว่างการขนส่ง สินค้าย่อมไม่อาจส่งถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งอยู่ในตัว กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 627 มาใช้บังคับได้ เพราะหากนำบทบัญญัติมาตรา 627 มาปรับใช้กับกรณีนี้ ผลจะกลายเป็นว่าหากสินค้าสูญหายไปเพียงบางส่วนในระหว่างการขนส่งและผู้รับตราส่งเรียกให้ส่งมอบสินค้าบางส่วนที่ส่งมาถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งผู้รับตราส่งสามารถฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายนั้นได้ แต่ถ้าหากสินค้าสูญหายไปทั้งหมดในระหว่างการขนส่งผู้รับตราส่งไม่อาจฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายนั้นได้การตีความกฎหมายเช่นนั้นน่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของบทกฎหมายมาตราดังกล่าว นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ส่งอันเป็นคู่สัญญารับขนกับผู้ขนส่งเรียกเอาใบตราส่ง ผู้ขนส่งต้องทำใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 613ซึ่งใบตราส่งดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนและใบตราส่งนี้ย่อมโอนให้กันได้ตาม มาตรา 314 และในระหว่างที่ของยังอยู่ในมือผู้ขนส่ง ผู้ทรงใบตราส่งอาจจะให้ผู้ขนส่งงดการส่งซองนั้น หรือให้ส่งกลับคืนหรือจัดการแก่ของนั้นเป็นประการอื่นได้ ตามมาตรา 626 อันเป็นบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นว่าผู้รับโอนใบตราส่งหรือผู้ทรงใบตราส่งนั้นมีสิทธิตามสัญญารับขนอยู่ก่อนที่ของจะส่งถึงตำบลปลายทางแล้วเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงใบตราส่งที่จำเลยที่ 2ออกให้แก่ผู้ขายและเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในสินค้าพิพาทตามใบตราส่งนั้นแม้โจทก์ไม่อาจแสดงเจตนารับเอาประโยชน์จากสัญญารับขนโดยเรียกให้ส่งมอบของได้เพราะไม่มีกำหนดเวลาที่จะเรียกให้ส่งมอบของได้ตามมาตรา 627 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายเพราะเหตุที่สินค้าพิพาทต้องสูญหายเนื่องจากการขนส่งนั้นโดยตรง ทั้งนี้เพราะใบตราส่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขน เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงใบตราส่งนั้นโดยชอบและการปล่อยสินค้าที่ขนส่งให้แก่ผู้รับจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้รับมีใบตราส่งมาแสดงหรือขอแลกเอาใบปล่อยสินค้าไปเพื่อนำไปขอออกสินค้าต่อไปเท่านั้น โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิตามสัญญารับขนสินค้าพิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ผู้ร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทให้รับผิดตามสัญญารับขนได้ที่ศาลอุทธรณ์นำมาตรา 627 มาปรับแก่คดีนี้ แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญารับขนศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญารับขนต่อโจทก์เพียงใดนั้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627มาปรับแก่กรณีนี้ จึงไม่วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ในข้อกฎหมายที่ว่าต้องนำเรื่องข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาใช้บังคับหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ต้องรับผิดไม่เกินจำนวน 15,300 บาท หรือไม่ ดังนี้ เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา ปัญหานี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่คู่ความรับกันว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2534 เรือที่ขนส่งสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพโจทก์ไปขอรับสินค้าที่โรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแต่ปรากฏว่าไม่มีสินค้ามากับเรือดังกล่าวเห็นว่าเมื่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับในวันที่21 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ กรณีจึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3ลักษณะ 8 รับขนอันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทปรับแก่คดี ไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งของทะเลตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาปรับแก่คดีได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงไม่อาจยกเอาข้อจำกัดความรับผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวมาอ้างเพื่อรับผิดไม่เกินจำนวน 15,300 บาท ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share