คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7151/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุ 2 ถึง 3 วัน จำเลยดูข่าวโทรทัศน์ที่คนร้าย ทำทีเข้าไปซื้อทองแล้วชักอาวุธปืนออกมาปล้นเอา ทองหลบหนีไปได้ จึงคิดวางแผนเอาอย่างบ้างโดยไปยืม รถจักรยานยนต์จาก ก. ใช้สก๊อตเทปปิดป้ายทะเบียนไว้เพื่อไม่ให้จำหมายเลขทะเบียนได้และเอามีดคล้ายมีดปังตอที่มารดา ใช้หั่นผักห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์พกไว้ที่เอวด้านหลังแล้วขับรถจักรยานยนต์หาร้านขายทองที่ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจ และมีผู้หญิงเป็นคนขาย ทำทีเข้าไปซื้อสร้อยคอทองคำในร้านของผู้เสียหาย เมื่อได้สร้อยแล้วจำเลยชักมีดขึ้นมาชูขู่คนในร้าน จากนั้น นำสร้อยคอทองคำไปขายและเปลี่ยนเพิ่มสายสร้อยข้อมือ ของจำเลยส่วนเงินที่ได้มาได้พาพรรคพวกไปเลี้ยง ไปเที่ยวและเล่นการพนัน พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่า จำเลยกระทำผิดโดยมีแผนการอันเนื่องมาจากความโลภ และเอาเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ไปเที่ยวเตร่หาความสำราญเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดอื่นโดยทั่ว ๆ ไป แม้จำเลยจะสมองฝ่อ เพราะเคยถูกรถยนต์เฉี่ยวชนศีรษะกระแทกพื้นมีผลทำให้เชาวน์ปัญญาลดลงอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่ายขาดการยับยั้งชั่งใจเช่นคนทั่วไปอยู่บ้าง แต่ยังไม่ถึงขนาด ที่จะฟังได้ว่าขณะกระทำผิดจำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปังตอ 1 เล่ม เป็นอาวุธชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของนางศิริพร เรืองฉาย ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้มีดขู่เข็ญผู้เสียหายว่าในทันใดนั้นหากขัดขืนจะแทง ฟัน ทำร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การชิงทรัพย์แล้วจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการหลบหนีเพื่อพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุก10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายจนผู้เสียหายพอใจแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในชั้นนี้มีว่า จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องควบคุมตัวเองไม่ได้จึงไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 ปี จำเลยเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและสถาบันประสาทวิทยาด้วยอาการหงุดหงิด โมโหง่ายและชอบดื่มสุรา แพทย์หญิงสุรางค์ เลิศคชาธาร เป็นผู้ตรวจรักษาทราบจากประวัติเดิมว่า เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนจำเลยได้รับอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนศีรษะกระแทกพื้นและขาหักจากการเอกซเรย์ สมองพบว่าสมองฝ่อ บริเวณด้านหน้าทั้งสองข้างมีผลทำให้เชาวน์ปัญญาลดลง บุคลิกภาพเปลี่ยนไป การควบคุมตนเอง ลดลงอารมณ์เปลี่ยน ขาดการยับยั้งชั่งใจ ให้การรักษาโดยให้ยาควบคุมอารมณ์ ถ้าขาดยาจะมีอาการหงุดหงิดควบคุมตัวเองไม่ดี ชั้นสอบสวนจำเลยให้การไว้ว่าก่อนเกิดเหตุ 2 ถึง 3 วัน จำเลยดูข่าวโทรทัศน์ที่คนร้ายทำทีเข้าไปซื้อทองแล้วชักอาวุธปืนออกมาปล้นเอาทองหลบหนีไปได้จำเลยจึงคิดวางแผนเอาอย่างบ้างโดยไปยืมรถจักรยานยนต์จากนายโก้ สัมมาสิทธิ์ ใช้สก๊อตเทปปิดป้ายทะเบียนไว้เพื่อไม่ให้จำหมายเลขทะเบียนได้ และเอามีดคล้ายมีดปังตอที่มารดา ใช้หั่นผักห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์พกไว้ที่เอวด้านหลังแล้วขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในตลาดรังสิตจนหาร้านขายทองที่ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจ และมีผู้หญิงเป็นคนขายจำเลยทำทีเข้าไปซื้อสร้อยคอทองคำในร้ายของผู้เสียหายเมื่อได้แล้วได้ชักมีดขึ้นมาชูขู่คนในร้าน ต่อมาจำเลยนำสร้อยคอทองคำไปขายและเปลี่ยนเพิ่มสายสร้อยข้อมือของจำเลย ส่วนเงินที่ได้มาได้พาพรรคพวกไปเลี้ยง ไปเที่ยว และเล่นการพนัน เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นประกอบกันแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยกระทำผิดโดยมีแผนการอันเนื่องมาจากความโลภ และเอาเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ไปเที่ยวเตร่หาความสำราญเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดอื่นโดยทั่ว ๆ ไป แม้จำเลยจะสมองฝ่อ เพราะเคยถูกรถยนต์เฉี่ยวชนศีรษะกระแทกพื้น มีผลทำให้เชาวน์ปัญญาลดลงอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ขาดการยับยั้งชั่งใจเช่นคนทั่วไปอยู่บ้าง แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะฟังได้ว่าขณะกระทำผิดจำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องจึงนำมาเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้หาได้ไม่และศาลชั้นต้นก็ได้ลงโทษจำเลยในอัตราขั้นต่ำของกฎหมายโดยมิได้กำหนดโทษให้หนักขึ้นตามมาตรา 340 ตรี นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่มากแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจวางโทษให้เบาลงแล้วรอการลงโทษให้จำเลยได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share