คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6503/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อีเฟดรีนของกลางที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวต้องรับโทษเพียงใดอยู่ที่ปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ว่าหนักเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีอีเฟดรีน ของกลางไว้ในครอบครอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 13.12 กรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92(พ.ศ. 2538)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ว่าการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์อีเฟดรีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วต้องไม่เกินปริมาณ 12.000 กรัม การที่จำเลยมีอีเฟดรีน ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดดังกล่าวจึงเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นได้ หาใช่เป็นการเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ไม่ ขณะเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้น พบจำเลยที่ 2 นอนอยู่ที่เพิง ข้างบ้าน โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าไปนอนที่บ้านเกิดเหตุเพื่อดู หนังสือเตรียมตัวสอบ ส่วนจำเลยที่ 3 ไปพบจำเลยที่ 1เพราะจำเลยที่ 1 ชวนให้นอนค้างที่บ้านเกิดเหตุ เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รู้เห็นในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 หรือสมคบกับจำเลยที่ 1กระทำผิดรายนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ช่วยถอดเครื่องมือที่ใช้ผลิตอีเฟดรีน เพื่อนำออกไปซ่อมก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ผลิตอีเฟดรีน มาก่อน เพียงเท่านี้จึงยังไม่พอชี้ขาดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมกระทำผิดรายนี้ด้วย โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ,62,86,106 ทวิ ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง บทกำหนดโทษคือมาตรา 89การที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 86 แทนที่จะเป็นมาตรา 89 จึงเป็นกรณีโจทก์อ้างบทมาตราผิดศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง,62 วรรคหนึ่ง,89,106 ทวิ ให้ลงโทษฐานผลิตตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,89 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 นั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 89 และมาตรา 106 ทวิ ต่างก็มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทเท่ากัน ต้องพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 89

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตอีเฟดรีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยจำเลยทั้งสามได้นำอีเฟดรีนเข้มข้น (หัวเชื้อ) มาผสมกับสิ่งเจือปนอื่นแล้วนำมาบดอัดแปรสภาพเป็นเม็ดได้เม็ดยา 1,596 เม็ด ผงอีเฟดรีน ที่ผสมแล้ว 1 ถุง รวมน้ำหนักสุทธิ 885.6 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้หนัก 13.12 กรัมและจำเลยทั้งสามร่วมกันมีอีเฟดรีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ดังกล่าวตามจำนวนและน้ำหนักที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันผลิตดังกล่าวข้างต้น อันเป็นจำนวนเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมอีเฟดรีน ดังกล่าวกับยึดได้สารเคมี เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ในการผลิตอีเฟดรีน รวม 19 รายการและยึดได้รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 1ย-3628 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 86, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 30, 31 ริบอีเฟดรีนสารเคมี เครื่องมือ อุปกรณ์ในการผลิตอีเฟดรีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนรถยนต์โตโยต้าของกลางโจทก์จะยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลริบให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 30, 31 ต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 20 ปี ริบอีเฟดรีน สารเคมี เครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตอีเฟดรีน ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ ให้ลงโทษฐานผลิตตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด13 ปี 4 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคดีมีเหตุลดโทษหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 1โจทก์มีพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1คือร้อยตำรวจเอกอรุณ อัครธรรม และสิบตำรวจโทบุญเชิด ศรขาพยานทั้งสองยืนยันว่าได้รับแจ้งจากสายลับว่าบ้านเกิดเหตุมีการลักลอบผลิตอีเฟดรีน พยานทั้งสองกับพวกเข้าไปตรวจค้นบ้านดังกล่าว พบจำเลยที่ 1 กำลังจูงสุนัขเดินเล่นอยู่นอกรั้วบ้านส่วนจำเลยที่ 2 นอนอยู่ที่เพิงข้างบ้านและจำเลยที่ 3 นอนอยู่ในบ้านเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบอีเฟดรีน จำนวน 1,596 เม็ดอยู่ในถุงใหญ่ ผงเคมีสีน้ำตาลหนักประมาณ 1 กิโลกรัม และอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตอีเฟดรีน ของกลางรวมทั้งสิ้น 25 รายการซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ที่ห้องครัว ห้องน้ำ และในถังพลาสติกที่หลังบ้านตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.1 พนักงานสอบสวนได้ส่งเม็ดยาสีน้ำตาลและผงสีน้ำตาลของกลางไปตรวจพิสูจน์แล้วพบอีเฟดรีน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 13.12 กรัม ตามผลการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบของกลางจากบ้านดังกล่าวแต่อ้างว่าไม่ทราบเป็นของใคร เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่กระทำการตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1มาก่อน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 1 ต้องรับโทษ พยานโจทก์เบิกความได้ข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงและสอดคล้องต้องกันนับตั้งแต่ได้รับแจ้งว่าบ้านเกิดเหตุลักลอบผลิตอีเฟดรีน และมีสิ่งผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่จึงได้วางแผนจับกุมและเข้าตรวจค้นจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านเกิดเหตุเอง เมื่อตรวจค้นก็พบอีเฟดรีน และเครื่องมือการผลิตอีเฟดรีน ของกลางและสิ่งผิดกฎหมายอื่นอีก ทั้งชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับนายดำไม่ทราบนามสกุลผลิตอีเฟดรีน แล้วนำไปขายที่ตลาดวังน้อยและเก็บอีเฟดรีน ซึ่งอัดเป็นเม็ด 16 ถุงและที่เป็นผงอีก 1 ถุงกับเครื่องมือที่ใช้ผลิตอีเฟดรีน ไว้ที่บ้านเกิดเหตุ บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดมากมายยากที่พนักงานสอบสวนจะจดบันทึกขึ้นเองได้หากจำเลยที่ 1 มิได้ให้การรับสารภาพไว้เช่นนั้นโดยมีพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.5 จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ที่จำเลยที่ 1อ้างว่าถูกบังคับและจูงใจให้รับสารภาพนั้น คงมีแต่จำเลยที่ 1เบิกความลอย ๆ ไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ปรากฏว่าอีเฟดรีนมีจำนวนมากถึง 1,596 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงใหญ่ ผงเคมีสีน้ำตาลหนักประมาณ1 กิโลกรัม และอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตอีเฟดรีนของกลางรวม 25 รายการ ซึ่งอยู่ในถังพลาสติกหลังบ้าน ห้องน้ำและห้องครัวสามารถพบเห็นได้ง่าย จำเลยที่ 1 ย่อมต้องมีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับอีเฟดรีนและอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตอีเฟดรีนของกลาง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตอีเฟดรีนและมีอีเฟดรีนของกลางเกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ในครอบครอง ข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าบ้านเกิดเหตุนายกุ่ย แซ่ลิ้ม ได้สร้างไว้เพื่อดูแลสวนที่เช่าจากมารดาจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความว่าขณะตรวจค้นพบจำเลยที่ 1นอกรั้วบ้านเกิดเหตุ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านดังกล่าวเอง จำเลยที่ 1 ไม่เคยแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าบ้านดังกล่าวเป็นของนายกุ่ยที่เช่าจากมารดาจำเลยที่ 1อันเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งขัดกับคำให้การของนายชรินทร์ คล้ายแก้ว พี่ชายจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า บ้านเกิดเหตุปกติจะไม่มีใครอยู่ตามเอกสารหมาย จ.8 ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าการครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้มีลักษณะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยต้องรับโทษหนักขึ้น โจทก์ต้องนำสืบว่าอีเฟดรีนของกลางมีน้ำหนักเท่าใดและจำเลยที่ 1 จะต้องรู้ว่ามีปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนั้น เห็นว่า อีเฟดรีน ของกลางที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวต้องรับโทษเพียงใดอยู่ที่ปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ว่าหนักเท่าใดเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มีอีเฟดรีน ของกลางไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 13.12 กรัมซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ว่าการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์อีเฟดรีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วต้องไม่เกินปริมาณ 12.000 กรัม การที่จำเลยมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดดังกล่าว จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นได้ หาใช่เป็นการเพิ่มโทษดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่
สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าร่วมผลิตอีเฟดรีน และไม่พบอีเฟดรีนของกลางที่ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 พยานโจทก์เท่าที่นำสืบมาได้ความแต่เพียงว่าขณะเข้าตรวจค้นพบจำเลยที่ 2 นอนอยู่ที่เพิงข้างบ้าน โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าไปนอนที่บ้านเกิดเหตุเพื่อดูหนังสือเตรียมตัวสอบ ส่วนจำเลยที่ 3 ไปพบจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ชวนให้นอนค้างที่บ้านเกิดเหตุ ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รู้เห็นในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 หรือสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดรายนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ช่วยถอดเครื่องมือที่ใช้ผลิตอีเฟดรีน เพื่อนำออกไปซ่อมก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ผลิตอีเฟดรีน มาก่อนเพียงเท่านี้จึงยังไม่พอชี้ขาดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมกระทำผิดรายนี้ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ตลอดมาว่าไม่ได้กระทำผิดพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไป
ฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายที่ว่า คดีไม่ควรลดโทษให้จำเลยที่ 1นั้นเห็นว่า คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเป็นกรณีที่มีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยที่ 1 เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ, 62, 86, 106 ทวิ ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง บทกำหนดโทษคือมาตรา 89 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 86 แทนที่จะเป็นมาตรา 89 จึงเป็นกรณีโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคห้า ส่วนกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89,106 ทวิ ให้ลงโทษฐานผลิตตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 89 และมาตรา 106 ทวิ ต่างก็มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทเท่ากัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 89 ในฐานเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share