คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรดาหน้าที่และความรับผิดอันเกิดจากการซื้อขายสินค้ามีผลบังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายกับบริษัทอ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ หามีผลใด ๆ เกี่ยวข้องถึงจำเลยซึ่ง เป็นผู้รับขนไม่ โจทก์จำเลยทำสัญญารับขนของกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ซึ่งขณะนั้น พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังมิได้ใช้บังคับ กรณีจำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม มาตรา 4 ซึ่งมาตรา 612 และ 613 ได้บัญญัติ ถึงรูปแบบและเหตุที่ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งไว้ทั้งนี้ หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งเสมอไป แต่หากเมื่อใดที่มีการทำใบตราส่งให้แก่กันแล้วจะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอย่างชัดแจ้งว่า ผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกันจึงจะรับของไปได้ ซึ่งจะเป็นไปตาม มาตรา 615 ที่บัญญัติว่า ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กันท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งหรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์ และจำเลยได้ส่งสินค้ารายนี้ให้แก่บริษัทอ.แล้วโดยบริษัทอ.ไม่ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลย หรือให้ประกันตามควร อีกทั้งไม่มีคำสั่งของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้าเรียกให้จำเลยผู้รับขนรับผิด เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขน ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่บริษัทอ.ผู้ซื้อโดยที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้เวนคืนใบตราส่ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์มิได้ฟ้องในข้อความรับผิดของจำเลยในการที่ของสูญหายหรือบุบสลาย หรือส่งล่าช้า แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลย ปฏิบัติผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624แต่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาสินค้ากับดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน2,322,512.39 บาท กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,063,827.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กระทำผิดสัญญาเพราะจำเลยรับจ้างขนสินค้าพิพาทจากโจทก์เพื่อนำไปส่งมอบให้แก่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด ผู้รับตราส่งที่ประเทศโปแลนด์ซึ่งบริษัทไอเอฟบี อินเตอร์เนชั่นแนล เฟรทบริดจ์ (ด๊อยซ์แลนด์)เอ.เอ็ม.เบ.อา. จำกัด ตัวแทนของจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อยและถูกต้องครบถ้วนแล้วสัญญารับขนไม่มีข้อกำหนดว่าจำเลยจะต้องได้รับคำสั่งจากโจทก์ก่อน จึงจะส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งได้เหตุที่จำเลยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง โดยไม่มีใบตราส่งเพราะใบตราส่งมีข้อผิดพลาด บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัดผู้รับตราส่งจึงส่งคืนให้โจทก์แก้ไข แต่โจทก์ไม่ส่งกลับคืนไปยังผู้รับตราส่ง ซึ่งถือว่าโจทก์ครอบครองใบตราส่งแทนผู้ซื้อเท่านั้นหากโจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าก็ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาจากบริษัทผู้ซื้อ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญารับขนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ประเด็นพิพาทที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาก็คือจำเลยผิดสัญญาหรือไม่โดยที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีอ้างเรื่องที่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด คืนใบตราส่งมาให้โจทก์เป็นข้อสำคัญประการหนึ่งเพื่อแสดงว่าตนมิได้ผิดสัญญานั้น เห็นว่าบรรดาหน้าที่และความรับผิดอันเกิดจากการซื้อขายสินค้ามีผลบังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายกับบริษัทอินเตอร์-สแตนจำกัด ซึ่งเป็นผู้ซื้อเท่านั้น หามีผลใด ๆ เกี่ยวข้องถึงจำเลยไม่สำหรับโจทก์และจำเลยนั้นชอบที่จะต้องมีหน้าที่และความรับผิดต่อกันซึ่งเกิดจากการที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าให้อันเป็นมูลคดีนี้ เนื่องจากโจทก์จำเลยทำสัญญารับขนของกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังมิได้ใช้บังคับ กรณีจำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 612 และ 613 ได้บัญญัติถึงรูปแบบและเหตุที่ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งไว้ ทั้งนี้หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งเสมอไป แต่หากเมื่อใดที่มีการทำใบตราส่งให้แก่กันแล้วจะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอย่างชัดแจ้งว่าผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกันจึงจะรับของไปได้ซึ่งจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กัน ท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่ง หรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร” ดังนั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายนำสืบต้องตรงกัน ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์และจำเลยได้ส่งสินค้ารายนี้ให้แก่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัดแล้ว โดยบริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด ไม่ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลย หรือให้ประกันตามควรแต่อย่างใดอีกทั้งไม่มีคำสั่งของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง เห็นได้ว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา สำหรับประเด็นพิพาทที่เหลือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัยใด ๆ เพื่อมิให้คดีล่าช้าเกิดความเสียหายแก่คู่ความ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นพิพาทที่เหลือให้เสร็จสิ้นไป ดังนี้ ประเด็นพิพาทข้อ 2. ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้าเรียกให้จำเลยผู้รับขนรับผิด เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขน ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด โดยที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้เวนคืนใบตราส่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญา เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ประเด็นพิพาท ข้อ 3. ที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องในข้อความรับผิดของจำเลยในการที่ของสูญหายหรือบุบสลาย หรือส่งล่าช้า แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 คงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ประเด็นพิพาท ข้อ 5. ที่ว่าสินค้าพิพาทมีราคาเท่าใด และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ จำเลยนำสืบว่าราคาดังกล่าวไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเป็นราคาที่ถูกต้องหรือไม่ประกอบกับสินค้าพิพาทเป็นประเภทเสื้อผ้ากรณีไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 ที่จะให้จำเลยรับผิดเพียงไม่เกินราคาที่บอกไว้ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ราคาสินค้าพิพาทตามเอกสารหมาย ล.4 หาใช่ราคาที่แท้จริงไม่ ซึ่งราคาสินค้าพิพาทที่แท้จริงนั้น มีจำนวน 80,618.25ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2,063,827.20 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.60 บาท) ดังที่โจทก์อ้าง โดยที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทให้เป็นอันดับแรก หากคืนให้ไม่ได้จึงขอให้ชดใช้ราคาสินค้าพิพาทแทน ทั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามขอภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 ปรากฏรายละเอียดตามหนังสือเรื่องขอให้ลูกความของท่านคืนสินค้าหรือหากคืนสินค้าไม่ได้ ก็ขอให้ชดใช้ราคาสินค้า เอกสารหมาย จ.14 ฉะนั้นเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติใด ๆ ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวกรณีถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในส่วนที่เป็นหนี้เงิน คือราคาสินค้าพิพาทในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีหาใช่ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่โจทก์ขอมาเพราะโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่ทำให้เรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 และให้คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2536 หาใช่ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2534ดังที่โจทก์ขอมาไม่เช่นกัน
พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทแก่โจทก์หากคืนให้ไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 2,063,827.20 บาท(สองล้านหกหมื่นสามพันแปดร้อยยี่สิบเจ็ดบาทยี่สิบสตางค์) พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย

Share