คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6366/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งและส่วนอาญา การกระทำความผิดของจำเลยแยกได้เป็นสองส่วน คือ ความรับผิดในทางแพ่ง คือ การรื้อถอน อาคารพิพาทซึ่งก่อสร้างฝ่าฝืนมาตรา 21 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯมาตรา 42 แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา โดยไม่ได้ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งเป็นความรับผิดในทางแพ่ง เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยผิดกฎหมายและเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาท จำเลยได้ทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 21,65 และมาตรา 42,66 ทวิ แม้จำเลยจะได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทไปให้บุคคลภายนอกก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความรับผิดในทางอาญาของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาชำระค่าปรับเป็นรายวันไปจนกว่าอาคารพิพาทจะได้มีการรื้อถอนเพราะหากยอมให้จำเลยไม่ต้องรับผิดเมื่อโอนอาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกคำพิพากษาก็จะไร้ผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยก่อสร้างอาคาร คสล.2 ชั้นโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและมิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย ต่อมานายกเทศมนตรีตำบลลัดหลวงเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยระงับการก่อสร้างและมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวให้เสร็จภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง จำเลยได้รับหนังสือคำสั่งดังกล่าวแล้วแต่ไม่ระงับการก่อสร้างแต่กลับทำการก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จและไม่รื้อถอนอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40, 42,65, 66 ทวิ, 71 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40, 42, 65(ที่ถูกมาตรา 65 วรรคแรก), 66 ทวิ, 71 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 20,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นปรับ 30,000 บาท และปรับอีกวันละ 600 บาท นับจากวันที่27 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 10,000 บาท15,000 บาทและวันละ 300 บาท ตามลำดับรวมเป็นปรับ25,000 บาท และวันละ 300 บาท นับจากวันที่ 27 ตุลาคม 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 10,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปรับ15,000 บาท และปรับวันละ 300 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระค่าปรับเป็นรายวันวันละ 300 บาท มีกำหนดเวลาเท่าใด จำเลยฎีกาว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยและภริยาได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร ไปแล้วก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา จำเลยจึงไม่สามารถจะรื้อถอนอาคารพิพาทได้เพราะกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทตกเป็นของบุคคลภายนอกแล้วดังนั้น จำเลยจึงควรต้องชำระค่าปรับเป็นรายวันเพียงวันที่19 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับรายวันวันละ300 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งและส่วนอาญา สำหรับบทบัญญัติในส่วนแพ่ง เช่น ขอให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารระงับการก่อสร้างหรือสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารโดยไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา สำหรับกรณีคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทางอาญาโดยไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารพิพาทแต่จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,65 และมาตรา 42, 66 ทวิ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งมาตรา 66 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น” ตามบทกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยแยกได้เป็นสองส่วน คือ ความรับผิดในทางแพ่ง คือ การรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งก่อสร้างฝ่าฝืนมาตรา 21 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ตามมาตรา 42 สำหรับกรณีของจำเลยนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา โดยไม่ได้ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งเป็นความรับผิดในทางแพ่ง ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยผิดกฎหมายและเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาท จำเลยได้ทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามจำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทไปให้บุคคลภายนอกก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความรับผิดในทางอาญาของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาไปจนกว่าอาคารพิพาทจะได้มีการรื้อถอนเพราะหากยอมให้จำเลยไม่ต้องรับผิดเมื่อโอนอาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอก คำพิพากษาก็จะไร้ผลบังคับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share