แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทของโจทก์ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นในระหว่างนั้นกรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ดังกล่าว ข้อความตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงที่พิพาทที่ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับระบุว่า ผู้ประพันธ์ตกลงโอนขายและห้างตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามที่ระบุในสัญญา การโอนขายนี้จึงเป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์และบทเพลงพิพาทเป็นงานดนตรีกรรม ซึ่งไม่ต้องบังคับตามมาตรา 18 และมาตรา 19 ข้อสัญญาดังกล่าว จึงมีความหมายว่า เป็นการโอนลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 วรรคแรกเมื่อปรากฏว่าขณะพิจารณาคดีนี้ ค.ผู้สร้างสรรค์บทเพลงพิพาทยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับดังกล่าวนี้ได้ โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทรวมกับบทเพลงอื่นจากด.ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ แต่เหตุที่จำเลยนำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิในลิขสิทธิ์เพลงพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนา กระทำผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมในเนื้อร้องและทำนองเพลง “ผัวฉันหาย” เมื่อต้นเดือนกันยายน 2538เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำเอาบทเพลงดังกล่าวไปทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยทำการเรียบเรียงเสียงประสานประกอบการบรรเลงดนตรีและเสียงประกอบคำร้อง แล้วนำไปบันทึกเสียงลงในแถบบันทึกเสียง ใช้ชื่อชุดว่า “ลูกทุ่ง#2 เบรคแตก” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แล้วนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่าเสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เสนอให้เช่าซื้อหรือแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อหากำไร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 27, 28, 29, 31, 69, 70, 73ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสั่งจ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาแก่โจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 31, 69 วรรคสอง,70 วรรคสอง เป็นความผิดต่างกรรมกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามมาตรา 27,69 วรรคสอง เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ปรับรายละ 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาทความผิดตามมาตรา 31, 70 วรรคสอง เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ปรับรายละ 50,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้จำคุก 3 เดือนและปรับ 50,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รายละ150,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 รวมจำคุก 9 เดือน และปรับ150,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ในกรณีไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ส่วนจำเลยที่ 3 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาแก่โจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 17 วรรคสาม บัญญัติว่าการโอนลิขสิทธิ์ตามวรรคสองซึ่งมิใช่ทางมรดก ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าเป็นการโอนมีกำหนดระยะเวลาสิบปีเมื่อโจทก์ได้รับโอนบทเพลงพิพาทจากผู้สร้างสรรค์มาเกินสิบปีโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสาม เห็นว่าสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ของโจทก์ทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2522 ในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ใช้บังคับ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นในระหว่างนี้กรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งในมาตรา 15 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า การโอนลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่น เจ้าของลิขสิทธิ์จะโอนให้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็ได้ มาตรา 16 วรรคแรกบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 18 และมาตรา 19 ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายเมื่อข้อความตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงเอกสารหมาย จ.5ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้ประพันธ์ตกลงโอนขายและห้างตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามข้อ 1 การโอนขายนี้เป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์” และบทเพลงพิพาทเป็นงานดนตรีกรรมไม่ต้องบังคับตามมาตรา 18 และมาตรา 19ข้อความตามสัญญาดังกล่าวจึงมีความหมายว่า เป็นการโอนลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 วรรคแรก เมื่อขณะพิจารณาคดี นายดิเรก เกศรีระคุปต์หรือจิ๋ว พิจิตร ผู้สร้างสรรค์บทเพลงพิพาทยังมีชีวิตอยู่โจทก์ผู้รับโอนย่อมมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามได้
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ผู้ชำระบัญชีห้างโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2522 โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทรวมกับบทเพลงอื่นจากนายดิเรก เกศรีระคุปต์หรือจิ๋ว พิจิตร ในราคา 100,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงเอกสารหมาย จ.5 จำเลยทั้งสามมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เนื่องจากก่อนหน้านี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลงอื่นในเอกสารหมาย จ.5 ของโจทก์ที่ศาลอาญาธนบุรีมาแล้ว จำเลยทั้งสามย่อมทราบดีว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาท แต่ยังนำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงลงในแถบบันทึกเสียงและแผ่นเสียงนำออกจำหน่ายทั่วไปเพื่อหากำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามจะเคยถูกโจทก์ฟ้องในคดีอาญาฐานละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลงอื่นตามเอกสารหมาย จ.5มาก่อนแล้วก็ตาม แต่สำหรับคดีนี้จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าเหตุที่จำเลยทั้งสามมีสิทธินำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงลงในแถบบันทึกเสียงและแผ่นเสียงได้ เนื่องจากได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากจ่าสิบตำรวจประจวบ แสนสุข ซึ่งได้รับอนุญาตจากนายดิเรก เกศรีระคุปต์ หรือจิ๋ว พิจิตร ผู้สร้างสรรค์ให้มีสิทธินำบทเพลงพิพาทให้บุคคลอื่นบันทึกเสียงแทนได้จำเลยทั้งสามจึงไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยมีนายดิเรก หรือจิ๋ว พิจิตร เบิกความสนับสนุนว่า ก่อนที่พยานจะขายลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5พยานเป็นผู้เขียนหนังสือเอกสารหมาย ล.3 อนุญาตให้จ่าสิบตำรวจประจวบนำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงเองหรือให้ผู้อื่นบันทึกก็ได้และก่อนที่จ่าสิบตำรวจประจวบโอนสิทธิในบทเพลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้เรียกพยานไปสอบถาม พยานตอบยืนยันว่าเป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลงพิพาทและทำหนังสือเอกสารหมาย ล.3 ให้แก่จ่าสิบตำรวจประจวบจริงจึงทำให้น่าเชื่อว่า เหตุที่จำเลยทั้งสามนำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงเนื่องจากเข้าใจว่าตนมีสิทธิในลิขสิทธิ์เพลงพิพาทดีกว่าโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนากระทำผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง