คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5832/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินโฉนดพิพาทมีจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อมาจำเลยได้จัดสรรแบ่งขายโดยรังวัดแบ่งแยกออกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยขายให้แก่บุคคลทั่วไปโดยจำเลยใช้แผนผัง โฆษณาขายที่ดินเพื่อแสดงว่าที่ดินที่จัดสรรแบ่งขายมีถนนใหญ่ตัดผ่านกลางที่ดินและมีถนนซอยผ่านที่ดินที่แบ่งขายทุกแปลงออกสู่ถนนใหญ่ และผู้ซื้อที่ดินแต่ละแปลงจะต้องสละที่ดินของตนเองทำเป็นถนนซอยของส่วนรวมส่วนถนนใหญ่จำเลยจะกันที่ดินของจำเลยไว้ให้ทำเป็นถนนใหญ่ จึงเป็นการที่จำเลยได้อุทิศโฉนดเลขที่พิพาทเป็นทางสาธารณะ คือถนนสายพิพาทเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก แม้ภายหลัง ทางราชการทำถนนเคลื่อนจากแนวถนนเดิม ก็หามีผลทำให้ถนน สายพิพาทกลับกลายเป็นไม่ใช่ทางสาธารณะไม่ ถนนสายพิพาท ย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย ทันทีที่จำเลยได้แสดงเจตนาอุทิศถนนสายพิพาทเป็น ทางสาธารณประโยชน์โดยปริยาย โดยไม่จำต้องจดทะเบียน โอนสิทธิการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ถนนสายพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งโจทก์มีส่วนใช้และดูแลรักษาคุ้มครองป้องกัน การที่จำเลยทั้งหกไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวที่อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ไปแล้ว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 55โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์บรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อที่ดินกับจำเลย รวมถึงความรับผิดและข้อผูกพันของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินที่แบ่งขายให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างดี และตามคำให้การของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้โจทก์จะระบุที่ดินเลขโฉนด ซึ่งพิมพ์ผิดพลาดไปก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบต่อไป ทั้งปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง เกี่ยวกับเลขที่โฉนดที่ดินที่พิมพ์ผิดพลาดให้เป็นการถูกต้อง แล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุม คดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 10,000 บาท แทนโจทก์จึงไม่ชอบเพราะตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นสำหรับคดี ไม่มีทุนทรัพย์ไว้เพียง 3,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษา ยืนโดยมิได้แก้ไขในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข เสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1467เลขที่ดิน 19 เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นภารจำยอมเรื่องถนนของที่ดินจัดสรรทุกแปลง ห้ามไม่ให้จำเลยทั้งหกประกอบกรรมใด ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1467 อันเป็นเหตุให้แนวเขตที่ดินทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 9080 เลขที่ดิน 41ของโจทก์ไม่ติดที่สาธารณประโยชน์ตลอดแนว หรือเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมเรื่องถนนลดไปหรือเสื่อมความสะดวกขอให้จำเลยทั้งหกก่อสร้างถนนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1467เลขที่ดิน 19 ตามคำโฆษณาและตามสัญญา
จำเลยทั้งหกยื่นคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะการที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 4 ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9080เลขที่ดิน 41 ต้องตกเป็นที่สาธารณประโยชน์เพราะเหตุว่าเจ้าของที่ดินได้อุทิศให้เป็นทางหลวงแผ่นดินนั้นเป็นการบรรยายขัดแย้งกับคำฟ้องในข้อ 3 ที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งหกได้รังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน 9080 เลขที่ 41 ซึ่งโจทก์ได้ตกลงซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้จากนางสาวมาลี ทรงวีระซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทำให้จำเลยทั้งหกไม่สามารถเข้าใจในสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่า โจทก์ถูกจำเลยทั้งหกโต้แย้งสิทธิโดยการกระทำเช่นไร ที่ดินโฉนดเลขที่ 1467เลขที่ดิน 19 ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ หรือตกอยู่ในภารจำยอมที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งหก จำเลยทั้งหกมีสิทธิตามกฎหมายที่จำหน่ายจ่ายโอนให้แก่ผู้ใดก็ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1467 เลขที่ดิน 19เป็นที่สาธารณประโยชน์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1467 ที่พิพาทมีจำเลยทั้งหกมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อมาจำเลยทั้งหกได้จัดสรรแบ่งขายโดยรังวัดแบ่งแยกออกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยขายให้แก่บุคคลทั่วไปตามแผนผังและแผนที่เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มีนางสาวมาลี ทรงวีระกับพวกซื้อไป 1 แปลง หลังจากนั้น นางสาวมาลีได้ขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม และในปี 2533 นางสาวมาลีได้ขายที่ดินให้โจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9080 เลขที่ดิน 41ที่ดินแปลงนี้อยู่ติดกับถนนใหญ่ จำเลยทั้งหกได้แบ่งกันที่ดินของตนส่วนหนึ่งเพื่อให้ตัดถนนเป็นทางหลวงให้เป็นทางเข้าออกคือถนนสายพิพาท แต่ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนเป็นทางหลวงปรากฏว่าไม่ได้ตัดผ่านที่ดินตรงบริเวณที่จำเลยทั้งหกเว้นไว้แต่แนวถนนกลับเบี่ยงลงมาทางทิศใต้ ทำให้ที่ดินที่เว้นไว้แต่เดิมเพื่อให้ทำทางหลวงนั้นคงเหลืออยู่เป็นส่วนใหญ่ตามที่ปรากฏอยู่ในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.36 ต่อมาจำเลยทั้งหกได้ไปขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินคงเหลือดังกล่าวออกเป็น 3 แปลงโดยแบ่งตามขวางของที่ดินและแบ่งที่ดินทำถนนต่อจากแนวถนนซอยเดิมให้ต่อเนื่องกันจนถึงทางหลวงที่ตัดใหม่ ตามแผนผังเอกสารหมาย จ.28
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งหกประการแรกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1467 เลขที่ดิน 19 ตกเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์ นางสาวมาลี ทรงวีระนางทองดี แทนวันดี นางณัฐพร พรหมปัญญากุล นางจรรยา สุทธยาคมซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินที่จำเลยจัดสรรขายและนางสาวมาลี ฉัตถะสานต์นายหน้าผู้ขายที่ดินให้จำเลยทั้งหกเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ 1 ใช้แผนผังตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 ในการโฆษณาขายที่ดินแสดงว่าที่ดินที่จัดสรรแบ่งขายมีถนนใหญ่สายลำลูกกาไปนครนายกตัดผ่านกลางที่ดินและมีถนนซอยผ่านที่ดินที่แบ่งขายทุกแปลงออกสู่ถนนใหญ่ สำหรับถนนซอยผู้ซื้อที่ดินแต่ละแปลงจะต้องสละที่ดินของตนเองทำเป็นถนนของส่วนรวม เมื่อรับโอนที่ดินจากจำเลยทั้งหกจึงได้เนื้อที่ดินไม่เต็มตามจำนวนที่ตกลงซื้อและจ่ายเงินเพราะถูกหักไปทำเป็นถนนซอย ส่วนถนนใหญ่จำเลยที่ 1แจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะกันที่ดินของจำเลยไว้ให้ทำเป็นถนนใหญ่ตามแผนผังเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ฝ่ายจำเลยคงมีจำเลยที่ 1อ้างตนเองเป็นพยาน แต่เพียงปากเดียวว่า ถนนสายพิพาทไม่ได้เป็นทางสาธารณะ เพราะจำเลยตั้งใจจะแบ่งทำเป็นถนนหากมีถนนซึ่งหมายถึงทางหลวงจังหวัดสายพหลโยธิน-ลำลูกกาตัดผ่านที่ดินจัดสรรของจำเลย จึงได้เว้นที่ดินไว้เผื่อว่ามีถนนตัดผ่านก็จะยกที่ดินส่วนที่ให้ทำเป็นถนนเพื่อจะให้ผู้ซื้อที่ดินได้ใช้เป็นทางเข้าออกเป็นการกล่าวอ้างและนำสืบลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนประกอบกับจำเลยที่ 1เบิกความตอบคำถามค้านรับว่าที่ดินของโจทก์จำเลยเคยจัดสรรแบ่งขายให้นางสาวมาลี ทรงวีระ ในการโฆษณาขายได้ทำแผนที่ตั้งที่ดินแต่ละแปลงตามเอกสารหมาย จ.1 และได้เว้นที่ดินไว้เพื่อยกที่ดินส่วนนี้ให้เป็นถนนต่อมาถนนพหลโยธิน-ลำลูกกาได้ตัดผ่านที่ดินเบี่ยงไปทางทิศใต้ไม่ได้ตัดผ่านที่ดินบริเวณที่เว้นไว้ จึงไปยื่นขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่เหลือออกเป็น 3 แปลง อันเป็นการเจือสมกับพยานโจทก์ประกอบโฉนดที่ดินเลขที่ 9093 เลขที่ดิน 54 ซึ่งมีจำเลยทั้งหกมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และต่อมาโอนขายให้นายสันติยุทธแทนวันดี โดยนายสันติยุทธได้หักแบ่งที่ดินเป็นถนนพหลโยธิน-ลำลูกกา หมายเลข 3312 และแผนผังแบ่งแยกโฆษณาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และแผนที่จำลองการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระบุว่า แบ่งหักเป็นทางหลวงสายพหลโยธิน-ลำลูกกา ไว้ด้วยตามเอกสารหมาย จ.26 ถึง จ.29ซึ่งเป็นแผนที่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีสาขาลำลูกกาส่งมาให้ ดังนั้น น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งหกได้อุทิศที่ดินโฉนดเลขที่ 1467 ดังกล่าวเป็นทางสาธารณะคือถนนสายพิพาทเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก แม้ภายหลังทางราชการทำถนนเบี่ยงลงไปทางทิศใต้ เคลื่อนจากแนวถนนเดิมก็หามีผลทำให้ถนนสายพิพาทกลับกลายเป็นไม่ใช่ทางสาธารณะไม่ จำเลยทั้งหกจึงไม่มีสิทธิในที่ดินที่ได้อุทิศไปแล้วนั้นอีก ถนนสายพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทันทีที่จำเลยทั้งหกได้แสดงเจตนาอุทิศถนนสายพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยายโดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525เมื่อถนนสายพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งถนนดังกล่าวโจทก์มีส่วนใช้และดูแลรักษาคุ้มครองป้องกัน การที่จำเลยทั้งหกไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวที่อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ไปแล้วเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยทั้งหกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น จำเลยทั้งหกอ้างว่า ตามคำฟ้องข้อ 4โจทก์บรรยายว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9080 เลขที่ดิน 41ตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยายนั้นขัดแย้งกับคำฟ้องข้อ 3ซึ่งบรรยายว่าเป็นที่ดินของโจทก์ซื้อมาจากนางสาวมาลี ทรงวีระทำให้จำเลยทั้งหกไม่สามารถเข้าใจสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิอย่างไรนั้น เห็นว่า ตามฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อที่ดินกับจำเลยทั้งหกรวมถึงความรับผิดและข้อผูกพันของจำเลยทั้งหก ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินที่แบ่งขายให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างดีและตามคำให้การของจำเลยทั้งหกก็ปรากฏว่า จำเลยทั้งหกเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วแม้โจทก์จะบรรยายคำฟ้องข้อ 4 ระบุที่ดินโฉนดเลขที่ 9080ซึ่งพิมพ์ผิดพลาดไปก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบต่อไปทั้งปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับเลขที่โฉนดที่ดินที่พิมพ์ผิดพลาดให้เป็นการถูกต้องแล้วฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ไม่เคลือบคลุม
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าทนายความ 10,000 บาท แทนโจทก์นั้นไม่ชอบเพราะตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นสำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์ไว้เพียง 3,000 บาท จึงเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าทนายความชั้นศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาศาลละ 1,500 บาท แก่โจทก์

Share