คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5175/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทเพราะพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยและส. หลอกลวงโจทก์ให้ซื้อที่ดิน แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทโดยสำคัญผิดว่าที่ดิน แปลงพิพาทตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดินแปลง หมายเลข 1 ตามเอกสารหมาย จ.2 และต่อมาพบว่าที่ดินแปลงพิพาทตั้งอยู่ในตำแหน่งหมายเลข 2 ตามเอกสารหมายดังกล่าว จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมนั้นการแสดงเจตนาของโจทก์จึงเป็นโมฆะนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยและ ส. หลอกลวงโจทก์เสนอขายและนำชี้ที่ดินว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่เสนอขายเป็นที่ดินแปลงหมายเลข 1 ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องจนโจทก์หลงเชื่อเข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกัน คุณสมบัติแตกต่างกันมาก การเข้าทำสัญญาของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลทำให้สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นการกล่าวอ้างแล้วว่า โจทก์เข้าทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น โจทก์เข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลย โดยสำคัญผิดว่าที่ดินที่จะซื้อขายตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดินแปลงหมายเลข 1ซึ่งไม่ใช่ที่ดินที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดินแปลงหมายเลข 2จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในที่ดินที่จะซื้อขายย่อมเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม การแสดงเจตนาของโจทก์จึงเป็นโมฆะตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายของโจทก์กับจำเลยเป็นการแสดงเจตนาอันได้มาเพราะกลฉ้อฉล ทำให้สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแก่จำเลยให้จำเลยคืนเงินจำนวน 9,000,000 บาท แก่โจทก์จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วยังคงเพิกเฉย เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นโมฆะ จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินดังกล่าวเป็นต้นไปคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 343,749.99 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,343,749.99 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,343,749.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 9,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 8,730,000 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์สารบบเล่มทะเบียนการครอบครองที่ 95 จำนวนเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน14 ตารางวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวกับจำเลยในราคา 31,626,000 บาทชำระเงินให้แก่จำเลยแล้วเป็นเงิน 9,000,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันจดทะเบียนโอน ต่อมาเมื่อครบกำหนดระยะเวลาโอนที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์และจำเลยเกิดกรณีพิพาทกันและมิได้มีการโอนที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งโจทก์ไม่ได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทเพราะพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยและนางสำเนียงหลอกลวงโจทก์ให้ซื้อที่ดิน แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทโดยสำคัญผิดว่าที่ดินแปลงพิพาทตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดินแปลงหมายเลข 1 ตามเอกสารหมาย จ.2 และต่อมาพบว่าที่ดินแปลงพิพาทตั้งอยู่ในตำแหน่งหมายเลข 2 ตามเอกสารหมายดังกล่าว จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมการแสดงเจตนาของโจทก์จึงเป็นโมฆะนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยและนางสำเนียงหลอกลวงโจทก์ เสนอขายและนำชี้ที่ดินว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่เสนอขายเป็นที่ดินแปลงหมายเลข 1 ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จนโจทก์หลงเชื่อเข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกันคุณสมบัติแตกต่างกันมาก การเข้าทำสัญญาของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล ทำให้สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างแล้วว่า โจทก์เข้าทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมามีว่า โจทก์สำคัญผิดในที่ดินจริงหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คู่ความนำสืบกันมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์นำสืบว่า ก่อนที่โจทก์จะตกลงเข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน นางอุทิศและนางศรีรัตน์ได้เสนอขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยแจ้งว่านางสำเนียง อินทร์เถื่อน เป็นนายหน้าในการขายที่ดินดังกล่าว โจทก์ นางอุทิศและนางศรีรัตน์ได้พากันไปดูที่ดิน โดยบุคคลทั้งสองแจ้งให้ทราบว่าทราบตำแหน่งที่ดินมาจากนางสำเนียงซึ่งเป็นตัวแทนนายหน้าบริษัทจำเลย โดยนางสำเนียงได้เคยพาไปดูที่ดินมาก่อนแล้ว ที่ดินตั้งอยู่ในช่วงระหว่างอำเภอศรีราชาไปพัทยาบนเส้นทางถนนสุขุมวิท ห่างจากถนนสุขุมวิทประมาณ 200 เมตร ก่อนจะถึงต้องเอารถยนต์ไปจอดที่กระท่อมร้างแล้วเดินเลี้ยวขวาไปอีก 60 เมตร เขตที่ดินทิศตะวันออกมีถังซีเมนต์กับต้นไม้ใหญ่ ทิศตะวันตกจะมีกอข่อย ต้นมะม่วง ทางทิศใต้เป็นแนวมะพร้าวและรั้วบ้าน อยู่ในตำแหน่งที่ดินแปลงที่ดินแปลงหมายเลข 1 ของเอกสารหมาย จ.2 เมื่อไปดูที่ดินแล้วโจทก์สนใจ จึงได้เอาสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปตรวจสอบกับสำนักงานที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จริง แต่ระวางที่ดินไม่มีหลักหมุดและไม่ปรากฏในระวางไม่สามารถจะทราบตำแหน่งที่ดินว่าอยู่ที่ใดสามารถทราบได้แต่เพียงว่าอยู่ในบริเวณใดเท่านั้นต่อมาวันที่ 17 กันยายน 2533 นางอุทิศได้โทรศัพท์มาบอกให้ทราบว่าเจ้าของที่ดินจะมาพบที่ห้างสรรพสินค้าแหลมทองอยู่ที่อำเภอศรีราชา โจทก์จึงได้ไปตามนัดพบกับนางสำเนียงนางอุทิศและนางศรีรัตน์รออยู่บุคคลทั้งสามพาไปพบกับนางสาวสุจิตรา นาคสุวรรณ นางสาวสุจิตราแจ้งให้ทราบว่าเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยพร้อมกับแสดงหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ให้อำนาจทำนิติกรรมได้มีการตกลงซื้อขายที่ดินในราคาไร่ละ3,600,000 บาท จ่ายเงินให้ไป 9,000,000 บาท โดย 4,000,000 บาท เป็นการจ่ายค่ามัดจำ อีก 5,000,000 บาท เป็นการจ่ายค่าที่ดินบางส่วน ส่วนที่เหลือจะจ่ายให้ครบในวันโอน หลังจากทำสัญญา ฝ่ายโจทก์พาบุคคลอื่น 2 – 3 ราย ไปดูที่ดินแปลงหมายเลข 1เพื่อขายต่อ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2533 โจทก์ นางทัศนียา นางสำเนียง นางสมศรี และนางอุทิศ ได้พากันไปดูที่ดินอีกแต่ครั้งนี้นางสำเนียงพาไปดูที่ดินอีกแปลงหนึ่งลึกเข้าไปประมาณ 400 เมตร และชี้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นแปลงที่ตกลงซื้อไว้ซึ่งเป็นแปลงหมายเลข 2 ตามเอกสารหมาย จ.2 สภาพแตกต่างไปจากที่ดินแปลงหมายเลข 1 ราคาแตกต่างกันโดยราคาที่ดินแปลงหมายเลข 2 มีราคาไร่ละประมาณ 2,000,000 บาทเศษ โจทก์ได้โต้เถียงกับนางสำเนียงว่าไม่ใช่ที่ดินแปลงเดิม นางสำเนียงรับว่าจะไปเจรจากับนางสาวสุจิตราให้ แล้วนางสำเนียงให้โจทก์ไปพบกับนายวิทยาซึ่งเป็นญาติกับนางสาวสุจิตราให้รับเรื่องไว้ต่อมาขณะรอผลการเจรจาโจทก์เห็นว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปโจทก์จึงให้ทนายความบอกเลิกสัญญา และโจทก์มีนางทัศนียา สุขขานางอุทิศ ทองปาน และนางศรีรัตน์ กาญจนวิกัติ มาเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนโจทก์ทำสัญญากับจำเลยนางสำเนียงซึ่งเป็นนายหน้าขายที่ดินได้พานางอุทิศไปดูที่ดินบริเวณหมายเลข 1ของแผนที่เอกสารหมาย จ.2 ต่อมานางอุทิศและนางศรีรัตน์จึงได้พาโจทก์ไปดูที่ดินแปลงหมายเลข 1 หลังจากโจทก์ทำสัญญากับจำเลยแล้ว ฝ่ายโจทก์พาบุคคลอื่น 2 – 3 ราย ไปดูที่ดินแปลงหมายเลข 1 เพื่อขายต่อ แต่ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 2533เมื่อได้ให้นางสำเนียงดำเนินการเรื่องถากถาง นางสำเนียงกลับพาโจทก์ นางอุทิศและนางทัศนียาไปดูที่ดินแปลงหมายเลข 2ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.2 โจทก์จึงทราบว่าที่ดินที่มีการซื้อขายกันไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์ตั้งใจจะซื้อ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายทวี สุรนันท์มาเบิกความสนับสนุนว่า หลังจากโจทก์ทำสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์เคยพาพยานไปดูที่ดินบริเวณหมายเลข 1เพื่อให้พยานเป็นนายหน้าในการขายต่อหลังจากนั้นพยานเคยพาผู้อื่นไปดูที่ดินแปลงนี้ ฝ่ายจำเลยมีนางสาวสุจิตรา นาคสุวรรณกรรมการของจำเลยเบิกความว่า ได้พูดจาต่อรองราคากัน ในที่สุดโจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยราคาไร่ละ 3,600,000 บาท เนื้อที่ดิน 8 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา รวมเป็นเงิน 31,000,000 บาทเศษทำสัญญาจะซื้อจะขายกันในวันนั้น โดยโจทก์ได้วางมัดจำจำนวน9,000,000 บาท ตกลงราคากันแล้ว ก่อนทำสัญญานางสาวสุจิตราถามโจทก์ว่าทราบหรือไม่ว่าที่ดินอยู่ที่ใด โจทก์บอกว่าทราบเนื่องจากโจทก์ซื้อที่ดินบริเวณนั้นบ่อย โจทก์มีสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของที่ดินอยู่ที่โจทก์และมีผังเมืองของโครงการแหลมฉบังเมืองใหม่ด้วยโจทก์ได้เปรียบเทียบที่ดินกับผังเมืองโครงการแหลมฉบับเมืองใหม่แล้วทราบว่าที่ดินมีถนนตัดผ่านกลางแปลงโดยจะต้องถูกเวนคืนที่ดินโดยฝ่ายจำเลยมีนางสำเนียง อินเถื่อน และนายวานิช ผลพูลมาเบิกความสนับสนุน เห็นว่า ทางนำสืบของจำเลยขัดต่อข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์มีนายวิเชียร จันทร์กระจ่าง ข้าราชการประจำสำนักที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา เบิกความว่าที่ดินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3ธรรมดานั้น ไม่สามารถจะไปตรวจสอบแนวเขตได้ เนื่องจากไม่มีระวางแผนที่ หากจะตรวจสอบแนวที่ดินนั้นจะต้องให้เจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงมานำชี้เท่านั้น และมีนายประทีบ เจริญพรซึ่งรับราชการประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีมาเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ได้นำที่ดินตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี ไปให้ตรวจสอบเกี่ยวกับความถูกต้อง การเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดิน และตำแหน่งที่ตั้งของที่ดิน แต่เนื่องจากที่ดิน น.ส.3 ไม่สามารถตรวจสอบการเป็นเจ้าของที่ดินได้เพราะไม่มีระวางแผนที่ตรวจสอบ ทางเจ้าพนักงานอาจตรวจได้แต่เพียงว่าที่ดินตั้งอยู่ในตำบลหรืออำเภออะไรเท่านั้น ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลย โดยสำคัญผิดว่าที่ดินที่จะซื้อขายตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดินแปลงหมายเลข 1 ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งไม่ใช่ที่ดินที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดินแปลงหมายเลข 2 ตามเอกสารหมาย จ.2จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในที่ดินที่จะซื้อขายย่อมเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม การแสดงเจตนาของโจทก์จึงเป็นโมฆะตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share